NEXT GEN

4 แนวทางผลักดันจัดการป่ายั่งยืนระดับโลก “ตัดไม้แต่ได้ป่า” จาก “สวีเดน โมเดล” สู่ “ไทย โมเดล”

6 เมษายน 2566…สวีเดน ถือประเทศแห่งการส่งออกไม้เศรษฐกิจสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก การส่งออกป่าไม้คิดเป็น 10% ของ GDP ประเทศสวีเดน มูลค่ารวมกว่า 15 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ/ปี และยังครองตำแหน่งผู้นำด้านสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน โดยสวีเดนใช้นวัตกรรมจัดการป่าสร้างความสมดุลระหว่างเป้าหมายการอนุรักษ์ธรรมชาติและเศรษฐกิจ เช่น การพลิกฟื้นป่าที่เสื่อมโทรมทั่วประเทศที่เหลือเพียง 25% เมื่อ 100 ปีที่แล้ว กลับเพิ่มเป็น 75% ได้สำเร็จรวมถึงการปลูกป่าไม้เชิงพาณิชย์ ส่งเสริมเศรษฐกิจเติบโต เช่น ไม้แปรรูปสำหรับภาคก่อสร้างขนาดใหญ่ ไม้แปรรูปสำหรับเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งจะเป็นแบบอย่างให้ประเทศไทยได้

สถานเอกอัครราชทูตไทย-สวีเดน ร่วมกับเอสซีจีและพันธมิตร มองว่า “สวีเดน โมเดล” จะเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจที่จะช่วยสร้างให้ไทยมีรูปแบบการจัดการป่าในแบบของตัวเอง เพื่ออนาคตป่าไม้ไทยจะสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนเฉกเช่นเดียวกับสวีเดน จึงมีการจับมือกันผลักดันโมเดลจัดการป่ายั่งยืนระดับโลกจากสวีเดน พร้อมจัดงาน “Redesign Sustainable Forestry” : The Innovative Forest Management Forum มุ่งหวังให้ภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม นำโมเดลนี้ไปศึกษา เพื่อต่อยอดสร้างความยั่งยืนในประเทศไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “เวทีความร่วมมือด้านความยั่งยืนไทย-สวีเดน ปี 2566”

สำหรับประเทศสวีเดนที่คนในประเทศมี Mindset “รักธรรมชาติ” เป็นพื้นฐาน ด้วยช่วงวัยเด็กจนกระทั่งสูงวัย สามารถเดินเข้าป่าได้เป็นประจำ เพราะป่าเป็นพื้นที่สาธารณะ มีกิจกรรมในป่า มีการดูแลป่าด้วยชุมชนเอง ต่อเมื่อมีพระราชบัญญัติป่าไม้ (Forestry Act) ที่ทำให้ “ตัดไม้แต่ได้ป่า” เป็นข้อบังคับ ถ้าตัดต้นไม้ 1 ต้น ต้องปลูกเพิ่มอย่างน้อย 3 ต้น ส่งผลให้ได้พื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น ระบบนิเวศที่สมบูรณ์ ช่วยดูดซับคาร์บอน ลดผลกระทบด้านการเปลี่ยนแลงสภาพภูมิอากาศแล้ว ยังช่วยให้คนอยู่ร่วมกับป่าใช้ประโยชน์จากป่า และมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูป่าไปพร้อมกัน โดยได้ป่าไม้ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ให้ประชาชน สิ่งที่เกิดขึ้นนี้คือการแปรรูปไม้ เพื่อสร้างเศรษฐกิจ เช่น ไม้สำหรับการก่อสร้างอาคารสมัยใหม่ ไม้แปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์ รวมถึงเศษไม้เหลือใช้เป็นเชื้อเพลิงชีวมวล

Mindset ของคนสวีเดนยังเชื่อว่า การบริหารจัดการป่าไม้ที่ดีจะมีมูลค่ามากขึ้น

“ป่าที่มีการจัดการที่ดี ไม้จะมีคุณค่าสูงขึ้น 50% แต่ป่าที่ไม่มีการจัดการ จะใช้คุณค่าจากไม้ได้ไม่เต็มที่ บางประเทศ ไม้ที่ตัดแล้วใช้ได้มีแค่ 10% เท่านั้น ทำให้เสียคุณค่าจากป่าไปมาก และการนำไม้มาใช้ก่อสร้าง ต้องคิดแบบบูรณาการ มองให้รอบด้านตั้งแต่จุดเริ่มต้นการปลูกป่าอย่างถูกวิธีรวมถึงร่วมมือกับคนในชุมชนและภาคธุรกิจ เพื่อให้เราใช้ไม้ได้เกิดประโยชน์สูงสุดและยั่งยืน”

จากการระดมความคิด สร้างแรงบันดาลใจด้วย Success Case ด้วย “สวีเดน โมเดล” ทำให้ได้แนวคิดที่หลากหลายในการนำมาปรับใช้กับเมืองไทย ซึ่งนิธิ ภัทรโชค กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า

“เรามีโอกาสได้ไปศึกษาและเรียนรู้นวัตกรรมการจัดการป่าที่สวีเดน ผมมองว่าสิ่งที่น่าสนใจและน่าประทับใจคือ เรื่องของ Ecoinnovation การนำไม้มาก่อสร้างเป็นตึกทั้งหลัง ยกเว้นเพียงฐานรากเท่านั้นที่เป็นคอนกรีต เรามองว่าถ้ามีโอกาสก็อยากจะนำนวัตกรรมนี้มาแนะนำที่เมืองไทย ซึ่งวันนี้ก็ได้นำมาแนะนำตามที่ตั้งใจ เรื่องที่เราคุยกันวันนี้เป็นแนวคิดใหม่ ตัดไม้แต่ได้ป่า แม้จะขัดกับความเชื่อเก่าในเมืองไทยที่เราเคยเชื่อว่า การจะรักษาป่าไม้ไว้ให้ได้คือ การไม่ตัดไม้ แต่ทางสวีเดนกลับทำตรงกันข้ามโดยตัดไม้ไปให้ใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มศักยภาพ ในขณะเดียวกันก็เพิ่มพื้นที่ป่ากลับมาได้มากกว่าเดิม อย่างไรก็ตามสำหรับเมืองไทย ก็ควรใช้รูปแบบของไทยมากกว่า”

นิธิ ภัทรโชค

นิธิถอดบทเรียนและกลั่นกรองจนได้เป็น 5 แนวทางจัดการป่า จาก “สวีเดน โมเดล” สู่อนาคตการจัดการป่าไทยอย่างยั่งยืนในอนาคตประกอบไปด้วย

1.สร้าง “ไทย โมเดล”
สำหรับเมืองไทย

พัชร สุพัฒนกุล Senior Vice President, MQDC มองว่า “เราไม่อยากใช้ไม้เป็นจุดสร้างความโดดเด่นในการก่อสร้าง แต่ต้องการใช้ไม้เพื่อลด COจริง ๆ สิ่งที่ไทยทำได้อาจจะไม่เหมือนสวีเดน 100%แต่เชื่อว่าสวีเดน โมเดลสามารถปรับใช้กับไทยได้”

การสร้างความร่วมมือ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ อย่าง กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการพิจารณาเรื่องกฎหมายที่จะสนับสนุนในเรื่องนี้ ภาคเอกชน ภาคการศึกษาที่จะนำความรู้ ความเชี่ยวชาญ นวัตกรรมมาช่วยสนับสนุน ภาคประชาสังคมที่ต้องร่วมมือกัน ทั้งหมดต่างมีบทบาทสำคัญที่สามารถร่วมมือกันเพื่อให้ทรัพยากรป่าไม้ซึ่งมีโอกาสลดลงในปัจจุบัน เพิ่มขึ้นและเติบโตได้ 80-90% เหมือนที่สวีเดน

“สวีเดน โมเดล ทำให้เราต้องกลับมามองเรื่องการใช้ไม้หรือการสร้างเมืองจากไม้ และจะดียิ่งขึ้น ถ้าภาครัฐช่วยสนับสนุนทั้งการใช้วัสดุจากไม้และการดูแลป่าอย่างถูกวิธี” ดร. สุวรรณ ตั้งมิตรเจริญ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการส่งเสริมการปลูกป่า กรมป่าไม้กล่าวเสริม

-ป่าสนกับชุมชน ณ เมือง Härnösand ประเทศสวีเดน (บน)
-การใช้โดรนในการจัดการป่าของสวีเดนโดยบริษัท Arboair(ล่าง)

2.ชูนวัตกรรม
เพื่อใช้ประโยชน์จากป่าเต็มที่

ไม่ว่าจะเป็น การใช้ดาวเทียม โดรนบินสำรวจ การใช้เทคโนโลยีมาพัฒนาพันธุ์ไม้ หรือ การนำ Wood Engineering มาใช้ เป็นต้น เพราะนวัตกรรมเป็นกุญแจสำคัญของอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน โดยทางสวีเดนแนะนำว่า หนึ่งในนั้นคือการนำวัสดุเหลือใช้จากป่ามาแปรรูปเป็นพลังงานชีวมวล นอกจากเกิดประโยชน์ต่อชุมชน ยังช่วยลด CO2ในสวีเดนและทั่วโลก

3. Ecosystem
ดำเนินการไปพร้อมกัน

เอสซีจีชี้ให้เห็นว่า การดำเนินการไปพร้อมกันทั้ง Ecosystem จะช่วยทำให้การจัดการเรื่องป่าไม้สำเร็จไปได้

“เอสซีจีทำโครงการที่ชื่อว่า รักษ์ภูผามหานที เพื่อดูแลททั้ง ป่าและน้ำ เพราะเรามองว่า การฟื้นฟูป่าด้วยการปลูกเฉพาะต้นไม้ ป่าจะอยู่ไม่ได้หากขาดน้ำ เราจึงมีหน้าที่ในการทำฝายชะลอน้ำ ปัจจุบัน โครงการรักษ์ภูผามหานทีเพิ่มพื้นที่ป่าไปแล้ว 1.2 ล้านต้น และสร้างฝายชะลอน้ำ 115,000 ฝาย เราช่วยชุมชนกว่า 306 ชุมชน 57,000 ครัวเรือน ทั่วประเทศ ใช้บริโภคและการเกษตร ส่งต่อการจ้างงานกว่า 2,550 คน ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างรายได้เพิ่มกว่า 5 เท่า เรามีเป้าหมายปลูกป่า 3 ล้านไร่ 150,000 ฝาย เพื่อดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ 5 ล้านตัน มุ่งสู่ Net Zero ในปี 2050 ตามแนวทาง ESG 4 Plus”

นอกจากนี้ SCGP ที่มีการใช้ไม้ยูคาลิปตัสเป็นวัตถุดิบหลัก ได้นำระบบการบริหารจัดการสวนป่าอย่างยั่งยืน ตามมาตรฐาน Forest Stewardship Council (FSC) มาใช้กับพื้นที่ปลูกป่าเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการพัฒนานวัตกรรมยูคาลิปตัสสายพันธุ์ใหม่และใช้เทคโนโลยีต่างๆ เพื่อเพิ่มคุณภาพการปลูก สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้เกษตรกรกว่า 3,800ล้านบาทต่อปี

สถาปัตยกรรมไม้ภายในบริษัท NCC สำนักงานใหญ่ ที่สวีเดน ผลงานของ Pi Ekblom _Gaia Architecture

สำหรับสวีเดน ช่วงแรกไม้ถูกใช้เป็นเพียงวัสดุทดแทน แต่ตอนนี้ไม้เป็นวัสดุหลักในการก่อสร้างมากขึ้น สถาปนิกจึงต้องใช้และจัดการให้ถูกวิธีเพื่อให้ไม้เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจโตได้ อีกทั้งสถาปัตยกรรมที่มีไม้เป็นหลัก ยังทำให้เมืองน่าอยู่ขึ้นด้วย

4.ลงมือทำทันที
ร่วมมือของทุกฝ่าย

“หากวันนี้ยังไม่มีการลงมือทำอะไรเลย ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนจะหนักมากขึ้น ป่าไม้จะลดลง ส่งผลให้เกิดการตัดไม้อย่างผิดกฏหมายมากขึ้น แต่หากชุมชนเข้ามาช่วยกันดูแลเป็นเจ้าของป่าไม้ร่วมกัน จะบริหารจัดการได้ ธรรมชาติ เมือง และผู้คน อยู่ร่วมกันได้ ไทยก็สามารถนำสวีเดน โมเดลมาใช้ได้แต่ต้องสร้างให้เกิดเป็น Ecosystemใช้ความร่วมมือของทุกฝ่ายในการออกแบบร่วมกัน” สุนิตย์ เชรษฐา ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ ChangeFusion Group กล่าว

อีกหนึ่งความเชื่อของคนสวีเดน เพราะมนุษย์และธรรมชาติมีความสัมพันธ์กันมายาวนาน นอกจากการที่คนได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีต้นไม้ จะช่วยผ่อนคลาย ลดความเครียดได้

-อาคารไม้ Sara Kulturhus ณ เมือง Skellefteå ทางตอนเหนือของสวีเดน (บน)
-สะพานไม้ BIFROST ออกแบบโดย Gaia Arkitektur ชนะรางวัลนวัตกรรม “InfraLIGHTer Awards” ด้วยวัสดุไม้ผ่านการรับรอง (ล่าง)

Next Step บทสรุป

นิธิกล่าวในท้ายที่สุดว่า เป็นคำตอบที่ตอบง่ายมากคือ ทำเลยตั้งแต่วินาทีต่อไปนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความร่วมมือหรือกระบวนการอะไรก็ตาม ต้องเริ่มทำเลย

“ถ้าไม่เริ่มวันนี้ อีก 100 ปีเราก็จะยังเหมือนเดิม แต่ถ้าเราเริ่มวันนี้อีก 100 ปี เราอาจจะมีป่าไม้เพิ่มมาเป็น 80% เหมือนสวีเดน แล้วคำถามที่ว่าใครจะเป็นคนทำ ก็ตอบได้เลยว่าทุกคนต้องเริ่มทำและต้องลงมือทำเลยตั้งแต่วันนี้ ป่าไม้จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ได้อยู่ที่มือของเราทุกคน”

 

You Might Also Like