NEXT GEN

องค์กร/แบรนด์ หลีกเลี่ยงการรายงานเกี่ยวกับ S ใน ESG ไม่ได้อีกต่อไป

29 มีนาคม 2565…Global Reporting Initiative ได้ปรับปรุงมาตรฐาน รวมถึงเป็นครั้งแรกที่ขอให้องค์กรต่าง ๆ วัดผลและเปิดเผยประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อทำให้ห่วงโซ่อุปทานโปร่งใส และรับรองสภาพการทำงานที่เหมาะสม

“S” ในการรายงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ได้รับผลกระทบจากการเป็น “ลูกคนกลาง” ต่างจากพี่น้อง “E” และ “G” ซึ่งแง่มุมทางสังคมนั้นยากต่อการให้คำจำกัดความ และวิเคราะห์ ดังนั้นจึงไม่ได้ถูกกำหนดชัดเจนในรายงานความยั่งยืน

ยังคงไม่มีความเห็นเอกฉันท์ว่า เรื่องใดบ้างมีคุณสมบัติเหมาะที่จะเข้าข่ายว่าเป็นเรื่อง “สังคม” เมื่อรวมกับลักษณะเชิงคุณภาพของปัจจัยชี้วัดแล้ว การรายงานประเด็นทางสังคมจึงยังไม่เพียงพอเมื่อเปรียบเทียบกับการวัดความยั่งยืนที่จับต้องได้อื่น ๆ เช่น การปล่อยคาร์บอนหรือการใช้พลังงาน

แม้การมุ่งเน้นที่ S ใน ESG จะมีมากขึ้น
แต่ประเด็นทางสังคมก็ยังเป็นปัญหาใหญ่

ในบางพื้นที่ของเอเชีย เช่น ภาคการเกษตรและการผลิต ที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนสูง และการจ้างงานไม่เป็นธรรม

มีตัวอย่างรูปธรรมว่า ช่วง Covid-19 ความสนใจได้มุ่งไปที่บรรดาองค์กรต่าง ๆ และข้อมูลด้าน ESG ที่พวกเขาเน้นเผยแพร่ออกมา ศูนย์ทรัพยากรธุรกิจและสิทธิมนุษยชนที่ไม่แสวงหาผลกำไร เปิดเผยข้อมูลกรณีของค่าจ้างและผลประโยชน์ที่ยังไม่ได้จ่ายซึ่งเชื่อมโยงกับการระบาดใหญ่ของ Covid-19 ที่ส่งผลกระทบต่อคนงานโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า 9,800 คนในกัมพูชา เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ บังคลาเทศ และเอธิโอเปีย

ปี 2564 การระบาดใหญ่ทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย ส่งผลให้ประชากร 4.7 ล้านคนในอาเซียน ประสบปัญหาความยากจน เนื่องจากงาน 9.3 ล้านตำแหน่งหายไป ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) ระบุว่า Omicron สามารถลดการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สูงถึง 0.8%

ด้วยการมีประชากรจำนวนมาก บวกกับกลไกต่าง ๆ ในการชุบชีวิตเศรษฐกิจ ADB ให้ความเห็นว่า ความเสียหายทางสังคมที่เกิดขึ้นสามารถทำให้ดีเหมือนอดีตได้ ปัจจัยอยู่ที่การลงทุนเพิ่มเติมเพื่อส่งมอบการรักษาพยาบาลที่ดีให้แก่ชุมชน และจะเป็นหัวใจสำคัญของการฟื้นตัวจากโรคระบาดในระยะยาว

“ปี 2565 การเติบโตในภูมิภาคนี้อาจเพิ่มขึ้นเป็น 1.5 % หากนำเงินประมาณ 5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP มาลงทุนในระบบการดูแลสุขภาพ” James Villfuerte นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของ ADB กล่าว

คิดใหม่ทำใหม่
กับ ‘S’ ใน ESG

การตอบสนองต่อความท้าทายของการวัดผล และการรายงานผลการปฏิบัติงานขององค์กรเกี่ยวกับผลกระทบทางสังคม หน่วยงาน Global Reporting Initiative (GRI) ได้รวมการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะด้านสิทธิมนุษยชนเอาไว้ในมาตรฐานสากลฉบับปรับปรุง 2564 เผยแพร่เมื่อเดือนตุลาคม ซึ่งแสดงถึงการปรับปรุงสำคัญที่สุดนับตั้งแต่หน่วยงานได้กำหนดมาตรฐานขึ้นเป็นครั้งแรก ในปี 2559

Bastian Buck หัวหน้าฝ่ายมาตรฐานของ GRI อธิบายว่า การเคารพสิทธิมนุษยชนในการดำเนินธุรกิจถูกกำหนดไว้ครั้งแรกเมื่อปี 2553 ภายใต้หลักการชี้แนะสำหรับธุรกิจและสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ และต่อมาได้รับการรับรองโดยองค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) แต่รายละเอียดค่อนข้างระบุกว้างๆ

อย่างไรก็ตาม รายงานล่าสุดของ Fair Finance Asia ระบุว่า บริษัทข้ามชาติและบริษัทในท้องถิ่นมีปัญหากับวิธีขจัดปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชนในห่วงโซ่อุปทานที่ขยายใหญ่และซับซ้อนมากขึ้น และเพิ่มเติมด้วยว่าประเด็นทางสังคมถูกรวมเข้ากับนโยบายความยั่งยืนของธนาคารในเอเชียได้ไม่ดีเท่าที่ควร

ปัญหาสังคมได้ทวีความรุนแรงขึ้นในภาคเกษตร ซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจสำหรับหลายประเทศในเอเชีย แรงงานทาสยุคใหม่ แรงงานบังคับและแรงงานเด็ก ความไม่เท่าเทียมกันทางเพศ แรงงานเถื่อน และงานที่มีความล่อแหลม โดยความกระจ่างเรื่องนี้ ถูกจำกัดโดยกฎระเบียบที่มีมากขึ้น ในหลาย ๆ พื้นที่ของเอเชีย

คนงานตัดเย็บเสื้อผ้าบังคลาเทศหลายร้อยคนประท้วงในกรุงธากาในปี 2019 โดยเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการตามโครงสร้างค่าจ้างใหม่ที่ประกาศไว้สำหรับภาคส่วนนี้ ในเอเชียไม่สนับสนุนสิทธิในการจัดตั้งองค์กร ส่งผลให้แรงงานมีอำนาจต่อรองเพียงเล็กน้อยในการปรับปรุงสภาพการทำงาน ภายใต้มาตรฐานที่ปรับปรุงใหม่ของ GRI บริษัทต่างๆ จะถูกขอให้เปิดเผยว่าพนักงานมีสิทธิ์ในการจัดระเบียบหรือไม่ ภาพ: depositphotos

ภายใต้มาตรฐานสากลฉบับปรับปรุง
GRI 2

บริษัทต่าง ๆ ถูกถามว่าพวกเขาอนุญาตให้พนักงานตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่าบริหารจัดการ และเป็นส่วนหนึ่งของการเจรจาต่อรองร่วมกันหรือไม่

Buck ยอมรับว่า การเปิดเผยประเด็นเหล่านี้อาจผลักดันบริษัทต่างๆ รู้สึกไม่สะดวกใจที่จะปฏิบัติตาม

“แน่นอนว่า สำหรับบริษัทจำนวนมาก องค์กรข้ามชาติ และบริษัทระดับชาติ การต้องทำเรื่องที่สาธารณชนสนใจ และการอภิปรายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องค่อนข้างยืดเยื้อ GRI กำลังยกระดับมาตรฐาน แต่ไม่ได้ทำในลักษณะที่นอกเหนือไปจากที่เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือสำหรับภาครัฐจริงๆ” 

จากการสำรวจของ KPMG ในปี 2563 พบว่า 73 % ของบริษัท 250 แห่งที่ใหญ่ที่สุดในโลก และ 67% จาก 5,200 บริษัทที่ประกอบด้วย 100 บริษัทที่ใหญ่ที่สุดใน 52 ประเทศ ใช้มาตรฐาน GRI ซึ่งล้วนหวังที่จะเห็นการเฝ้าระวังสิทธิมนุษยชนที่ดีขึ้น รวมถึงควรมีการปรับปรุงให้เข้มข้นขึ้น

Sustainalytics บริษัทจัดเรตติ้ง ระบุว่าการดำเนินการของบริษัทในการแก้ไขปัญหาสังคมเป็นหนึ่งในแนวโน้มสำคัญของ ESG ในปีนี้ ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มการแก้ปัญหาโลกรวน และการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ

สำหรับ GRI ความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจจำเป็นต้องเกิดขึ้น โดยไม่คำนึงถึงแรงจูงใจทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม บรรดาบริษัทต่างๆ ต้องเผชิญกับความเสี่ยงด้านชื่อเสียงและการลงทุน หากพวกเขาไม่เปิดเผยองค์ประกอบนี้ในการรายงานความยั่งยืน

“การปฏิบัติที่ว่า ต้องรายงานผลกระทบของกิจกรรมทางธุรกิจเรื่องสิทธิมนุษยชนควรเป็นเรื่องธรรมดา และเท่าเทียมกับการรายงานทางการเงิน ซึ่งการรายงานทางการเงินที่ถูกต้องครบถ้วนจะส่งผลต่อการได้รับเงินทุนด้วยอีกด้านหนึ่ง นักลงทุนรายใหญ่ที่สุดของโลกกำลังพิจารณาว่าบริษัทที่พวกเขาลงทุนเพื่อดำเนินการในด้านนี้มีผลประกอบการอย่างไร” Buck กล่าว

กองทุนบำเหน็จบำนาญของนอร์เวย์ ซึ่งเป็นกองทุนบำเหน็จบำนาญใหญ่เป็นอันดับสองของโลก ประกาศต่อสาธารณชนว่าคาดว่าบริษัทต่าง ๆ จะปฏิบัติตาม UN Guiding Principles

“ในการทำเช่นนั้น คุณต้องใช้มาตรฐาน GRI ไม่มีกรอบมาตรฐานอื่นใดที่จะใช้แทนได้ ทั้งประเทศและองค์กรระดับชาติสามารถสร้างความแตกต่าง โดยนำเสนอสภาพแวดล้อมที่พวกเขายึดมั่นตามบรรทัดฐาน”   Buck กล่าวในท้ายที่สุด

GRI Revised Universal Standards 2564 จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนมกราคมปีหน้า

 

ที่มา Eco-Business

You Might Also Like