CSR

AIS หลักสูตร อุ่นใจไซเบอร์ ขยายสู่ 437 โรงเรียนสังกัด กทม.หวังสร้างพลเมืองดิจิทัล  รู้ทันภัยไซเบอร์   

22 สิงหาคม 2566…ภายใต้นโยบายเรียนดีของผู้ว่าฯ กทม.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์  ที่มีเป้าหมายสำคัญ คือ มุ่งพัฒนาการเรียนการสอนของโรงเรียนในสังกัด กทม.ให้มีความทันสมัยสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของโลกดิจิทัลและเทคโนโลยี  ความร่วมมือครั้งนี้ ขยายสู่บุคลากรทางการศึกษาและนักเรียนรวมมากกว่า 250,000 คน 437 แห่ง ตั้งเป้าสร้างพลเมืองดิจิทัลพร้อมยกระดับดัชนีสุขภาวะดิจิทัล Thailand Cyber Wellness Index เริ่มตั้งแต่ภาคการศึกษา 2566 เป็นต้นไป

 

ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และสายชล ทรัพย์มากอุดม  รักษาการหัวหน้าหน่วยธุรกิจประชาสัมพันธ์และธุรกิจสัมพันธ์ AIS กล่าวถึงความร่วมมือครั้งสำคัญทางการศึกษาครั้งนี้โดยกรุงเทพมหานครฯ จับมือ AIS และภาคีเครือข่ายภาครัฐ ทั้งกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ขยายผลหลักสูตรการเรียนรู้ด้านทักษะดิจิทัล “หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์”  ยกระดับการศึกษายุคดิจิทัลในการสร้างภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ ส่งต่อความรู้ให้แก่ครู บุคลากรทางการศึกษาและนักเรียนในโรงเรียสังกัด กทม.

 

ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และสายชล ทรัพย์มากอุดม  รักษาการหัวหน้าหน่วยธุรกิจประชาสัมพันธ์และธุรกิจสัมพันธ์ AIS

“เมื่อโลกเปลี่ยนไปมาก การงานอาชีพก็เปลี่ยนไป  ดังนั้นจะออกแบบการศึกษาอย่างไรให้ตอบโจทย์โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้  เราพยายามปรับโครงสร้างพื้นฐานโรงเรียนสังกัดกทม. ให้ทันสมัยตั้งแต่เรื่องพื้นฐานในโรงเรียน รวมทั้งการเรียนการสอนให้มีความทันสมัย  ปัจจุบันเรามีห้องคอมพิวเตอร์ใหม่ โดยเป็นคอมพิวเตอร์ที่บริจาคให้เรา 93% แล้ว และจะทำให้ครบ 100% ในกลางปีนี้  โดยในจำนวนนี้ได้ทดลองแล้ว 1 โรงเรียนและจะขยาย 11 โรงเรียนเป็นต้นแบบ Actives Learning Computer Lab เรานำเทคโนโลยี Google Classroom มาใช้ในห้อง ส่งผลในการเรียนรู้เป็นแบบ Actives Learning มากขึ้น  ตำราที่ต้องรอจัดซื้อจัดจ้างเป็นรายเทอมรายปีจะเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น เพราะปัจจุบันเราใช้คอมพิวเตอร์แล้ว Content เปลี่ยนได้รายวันรายชั่วโมง  ถ้ามี Content ที่ดียิ่งทำให้เด็กเข้าถึงการศึกษาที่ดี  เราลดคอขวดจากการเรียนผ่านหนังสือตำราผ่านคุณครู เป็นผ่าน Digital Device ผ่าน Facilitator  ให้เด็กเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น  เป็นทางเดินที่กทม.เชื่อว่าทั้งโลกเดินแบบนี้  และกทม.จะปักธงเป็นโรงเรียนแรก ๆ ที่จะเปลี่ยนแปลงการศึกษาให้ได้  ซึ่ง 1 ใน 5 หลักการที่ท่านผู้ว่าฯพูดไว้คือ พยายามบูรณาการภาคีเครือข่ายให้มากที่สุด  ทำอย่างไรที่จะให้ Content ดี ๆ ในสังคมมาจากข้างนอกด้วย คุณครูก็อยู่ในฐานะ Facilitator ที่หยิบ Content ต่าง ๆ ในสังคมใช้”

ศานนท์ขยายความต่อเนื่อง เรื่องของโลกดิจิทัล ที่เด็กและผู้ใหญ่ต้องเรียนรู้ใหม่  เพราะมี Content ต่าง ๆ ที่จะนำเราไปสู่อีกด้านหนึ่ง หรือแม้แต่การหลอกลวงรูปแบบต่าง ๆเพราะฉะนั้นการเสริมสร้างความเข้มแข็ง ความเข้าใจดิจิทัล เป็นเรื่องที่สำคัญ

“โครงการหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ นับเป็นเรื่องที่สำคัญในยุคดิจิทัล ต้องขอขอบคุณ AIS ที่นำเอาหลักสูตรนี้ ขยายผลให้แก่กรุงเทพมหานคร ซึ่งเราจะนำหลักสูตรนี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในการอบรมคุณครู และนักเรียน  พร้อมทั้งนำ Content นี้เข้าไปอยู่ในห้อง Lab คอมพิวเตอร์ต่อไป”

ทีมของหลักสูตรอุ่ใจไซเบอร์ แนะนำเนื้อหาต่าง ๆ ทางออนไลน์พร้อมกับคุณครูกทม. 437 แห่ง

ศานนท์ ย้ำว่า การนำหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์เข้ามาในโรงเรียนสังกัดกทม. นับเป็นหนึ่งในทางเลือกที่เชื่อว่า เราไม่สามารถกำหนดได้ว่าทุกโรงเรียนต้องทำเหมือนกัน  แต่ละโรงเรียนจะมีแนวทางแตกต่างกันไป  เช่นบางโรงเรียนให้ใช้หลักสูตรนี้ในวิชาวิทยาศาสตร์  บางโรงเรียนบอกว่าจะเป็นหลักสูตรนอกห้องเรียน After School  บางโรงเรียนจะใช้ในห้องคอมพิวเตอร์วันเสาร์ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละโรงเรียน  และเราจะถอดบทเรียนจากตรงนั้น ดังนั้นการวัดผลจะเป็นรูปแบบหนึ่ง  ส่วนหัวใจที่สำคัญจะเป็นเรื่อง Impact มากกว่าว่าเด็กมีภูมิคุ้มกันอย่างไร

 

สายชล เล่าถึงความร่วมมือครั้งสำคัญกับกทม. เป็นการขยายผลต่อเนื่อง หลังจากนำหลักสูตรการเรียนรู้ดังกล่าว ส่งต่อไปยังบุคลากรทางการศึกษา และนักเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ กว่า 29,000 แห่งทั่วประเทศ รวมทั้งขยายผลไปสู่ระดับมหาวิทยาลัย ทั้งมหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา หรือแม้แต่การส่งต่อไปยังภาคประชาชนผ่านหน่วยงานความมั่นคงอย่าง สกมช.

 

“จากผลการศึกษาล่าสุดของดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทย หรือ Thailand Cyber Wellness Index พบว่า กลุ่มนักเรียนที่เราอาจจะเข้าใจว่าสามารถใช้งานสื่อดิจิทัลออนไลน์ได้อย่างเชี่ยวชาญในฐานะคนรุ่นใหม่ แต่ผลวิจัยกลับชี้ว่า เป็นอีกกลุ่มสำคัญที่ต้องเพิ่มทักษะความรู้ความเข้าใจให้สามารถใช้งานดิจิทัลได้อย่างถูกต้อง เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของภัยไซเบอร์ จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่วันนี้เราได้ทำงานร่วมกับ กรุงเทพมหานคร เพื่อขยายผลส่งต่อ หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ไปยังสถานศึกษาในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ”

 

คณะผู้บริหารกทม. และคณะผู้บริหารหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์

 

สายชล กล่าวในช่วงท้ายว่า AIS พร้อมเดินหน้าขยายผลหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ไปยังกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นผู้ดูแลโรงเรียนเทศบาล ทุกจังหวัดในประเทศไทย  รวมทั้งขยายผลความร่วมมือกับกรมอาชีวศึกษา นอกจากนี้ได้ปรับหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ให้เหมาะกับกลุ่มผู้สูงวัย ซึ่งก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ประสบปัญหาภัยไซเบอร์เช่นเดียวกันโดยเริ่มทดลองกับกลุ่ม OPPY – Old People Playing Young  Longevity CLUB เพื่อสร้างทักษะพลเมืองดิจิทัลให้ผู้สูงวัยรู้ทันภัยไซเบอร์

 

ความต่อเนื่องของ “หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์” โดย AIS มุ่งเพื่อสร้างความเข้าใจในการใช้งานดิจิทัลได้อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์  ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่จะยกระดับดัชนีสุขภาวะดิจิทัลของเด็กไทยและคนไทยให้อยูในระดับที่เพิ่มสูงขึ้นต่อไป

 

หมายเหตุ : “หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์”  นำเสนอเป็น 4 Professional Skill Module หรือ  4P4ป ที่ครอบคลุมทักษะดิจิทัล ดังนี้

1. Practice: ปลูกฝังให้มีความรู้ ความเข้าใจในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างถูกต้องและเหมาะสม

2.Personality: แนะนำการปกป้องความเป็นส่วนตัวบนโลกออนไลน์

3. Protection:  เรียนรู้การป้องกันภัยไซเบอร์บนโลกออนไลน์

4. Participation: รู้จักการปฏิสัมพันธ์ด้วยทักษะและพฤติกรรมการสื่อสารบนออนไลน์อย่างเหมาะสม

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://sustainability.ais.co.th/th/sustainability-projects/thailands-cyber-wellness-index

 

 

 

 

You Might Also Like