CIRCULAR ECONOMY

เอเซอร์ เปิดเส้นทางสู่ความยั่งยืน ผ่านทุกผลิตภัณฑ์

13 ตุลาคม 2566…เอเซอร์เดินหน้าโครงการ Earthion ให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม สร้างความตระหนักรู้แก่พนักงานในองค์กร พาร์ทเนอร์และลูกค้า ส่งเสริมการมีส่วนร่วมและการลงมือทำเพื่อช่วยลดปัญหามลพิษ มุ่งหวังสร้างแรงกระเพื่อมแบบยั่งยืนสู่สังคม ด้วยการผสานนวัตกรรมและเทคโนโลยี ตอบโจทย์การใช้งานของผู้บริโภคและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยขยายไลน์อัพผลิตภัณฑ์กลุ่ม Vero ทั้ง โน้ตบุ๊ก มอนิเตอร์ โปรเจคเตอร์ เราท์เตอร์ เครื่องฟอกอากาศ ต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ที่ตอบรับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ อาทิ เครื่องกรองน้ำ เพื่อช่วยลดปริมาณขยะพลาสติก  ขับเคลื่อนการใช้พลังงานทดแทน ด้วยจักรยานไฟฟ้า และสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า

“แนวทางการทำธุรกิจเพื่อความยั่งยืนของเอเซอร์เริ่มเป็นรูปธรรมขึ้นเมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว โดยมิสเตอร์เจสัน CEO ของเอเซอร์ พูดเรื่องนี้ขึ้นมาว่าต่อไปจะต้องเป็น Company Vision และบัญญัติคำว่า Earthion ขึ้นมา เป็นคำที่มาจาก Earth+Mission คือการดำเนินธุรกิจโดยให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม สร้างความตระหนักรู้แก่พนักงานในองค์กร พาร์ทเนอร์และลูกค้า ให้ทุกคนมีส่วนร่วม การลงมือทำเพื่อช่วยลดปัญหามลพิษ”

นิธิพัทธ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เอเซอร์ คอมพิวเตอร์ จำกัด กล่าวถึงแนวคิดในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน กับ SD Perspectives

“การลงรายละเอียดไปในตัวผลิตภัณฑ์จะช่วยให้เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง เพราะเราผลิตและขายคอมพิวเตอร์ ต่อให้เราไปปลูกป่ามากแค่ไหน แต่ถ้าเรายังผลิตคอมพิวเตอร์แบบเดิม ก็ไม่ได้ช่วยอะไร”

 

เอเซอร์ได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อให้เป็นรูปธรรม โดยกำหนดแนวทางการปฎิบัติไว้ 3 แนวทางคือ Climate Change, Circular Economy และ Social Impact ซึ่งแต่ละแนวทางมีการกำหนดเป้าหมายไว้ชัดเจน ดังนี้

Climate Change

มุ่งเน้นการใช้พลังงานหมุนเวียนผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์ของกลุ่มเอเซอร์เพื่อให้มีการใช้พลังงาน น้อยลง 45% ภายในปี 2025 โดยเทียบกับปี 2016 เข้าร่วมโครงการ RE100 ระดับโลกและให้คำมั่นที่จะใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ภายในปี 2035 จัดส่งการใช้พลาสติก PCR หรือ Post Consumer recycled 15 ล้านชิ้น 80% ของพลังงานของซัพพลายเออร์หลัก ปฏิบัติตาม RE100 ภายในปี 2025

Circular Economy

มีการเพิ่มปริมาณการนำพลาสติก PCR มาใช้ 30% ในสินค้ากลุ่มต่างๆของเอเซอร์ทั้ง คอมพิวเตอร์ จอแสดงผล โปรเจคเตอร์และอื่นๆ โดยเอเซอร์มีการปล่อยโน้ตบุ๊กที่ทำจาก PCR 60% ออกมาในช่วงก่อนโควิด-19 ในซีรี่ย์ของ Aspire Vero นอกจากนี้ 85% ของบรรจุภัณฑ์กันกระแทกโน้ตบุ๊กผลิตจากเยื่อกระดาษรีไซเคิล ขณะที่หมึกพิมพ์ชื่อแบรนด์มาจาก Soy Ink

อย่างไรก็ตามแม้การผลิตสินค้ากลุ่มรักษ์โลกจะทำให้มีต้นทุนที่เพิ่มมากขึ้นราว 10% แต่ นิธิพัทธ์ มองว่าหน้าที่ของบริษัท คือ การพยายามทำให้คุณภาพและราคาไม่แตกต่างไปจากสินค้ารุ่นปกติ เพื่อไม่เป็นการผลักภาระให้แก่ผู้บริโภค ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้บริโภคตอบรับกับโน้ตบุ๊คในกลุ่ม Vero แม้ในตอนแรกจะกังวลในเรื่องของรูปลักษณ์ที่แตกต่างไปจากแบบดั้งเดิม

นอกจากผลิตภัณฑ์เอเซอร์ยังมีการทำงานกับร้านค้าพาร์ทเนอร์ ซึ่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเอเซอร์มีการปรับ Display Stand มาใช้วัสดุรีไซเคิล ที่เรียกว่า Eco Board ที่มีความหนา 10 มม.ทำจากกล่องนมที่ใช้แล้ว  มีการล้างให้สะอาด นำมารีไซเคิล   256,600 กล่อง ผลิตเป็น Display Stand ของเอเซอร์ได้ทั้งหมด 100 ตัว ทำเฉพาะในประเทศไทย

ผลิตภัณฑ์เอเซอร์ที่มีส่วนผลมมาจากวัสดุรีไซเคิล รวมถึงEco Board ที่ใช้เป็นพื้นที่ Display Stand

Social Impact

 

พนักงานมีส่วนร่วมในโครงการและกิจกรรมเพื่อสังคมมากกว่า 90% เอเซอร์เชื่อว่า‘ความยั่งยืน’ต้องร่วมมือกันทุกฝ่าย สร้างความตระหนักรู้และจิตสำนึกที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมให้กับพนักงานในองค์กรพันธมิตรและพาร์ทเนอร์โดยนำเสนอความคิด แนวทางและกิจกรรมที่จะร่วมกันขับเคลื่อนไปด้วยกันได้อย่างยั่งยืน โดยปัจจุบัน เอเซอร์ดำเนินการผ่าน 3 กิจกรรม คือ

-ทิ้ง | ทิ้ง(ถูกทิ้ง | ทิ้งถูก)โครงการด้าน E-Waste ที่เอเซอร์ให้ความสำคัญในการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์โดยตั้งจุด ทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ ณ ศูนย์บริการเอเซอร์กว่า 10 สาขา และมีแผนจะเพิ่มจุดวางให้ได้มากขึ้น 30% โดยการร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ ในปี 2022 เอเซอร์รวบรวมขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้ถึง918 กก. และคาดว่าในปี 2023 จะเพิ่มขึ้น 20% โดยจะรวบรวมและส่งต่อให้กับหน่วยงานเพื่อคัดแยก รีไซเคิลและกำจัดอย่างถูกต้องและปลอดภัย ตอนนี้จึงมีจุดทิ้งทั้งหมด 44 ที่ ก่อนที่จะส่งต่อไปยัง TES Company  เพื่อจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธี ไม่ไปสู่หลุมฝังกลบ

-“เหลือขอ =ขอที่เหลือ เพื่อแบ่งปัน” เอเซอร์ร่วมกับมูลนิธิบ้านนกขมิ้นสร้างคุณค่าให้กับของเหลือใช้ ส่งต่อเป็นโอกาส รายได้สำหรับค่าอาหาร ค่าเทอมให้กับเด็กๆ ในมูลนิธิบ้านนกขมิ้น ปัจจุบันมีการตั้งรับบริจาคที่ศูนย์บริการเอเซอร์สำนักงานใหญ่เท่านั้นโดยได้มีการมอบสิ่งของต่างๆ ให้กับทางมูลนิธิไปแล้วกว่า 5 ครั้ง และมีแผนที่จะขยายเพิ่มจุดรับบริจาคกับทางพาร์ทเนอร์ในเร็วๆ นี้

-“ทอใหม่ (จาก) เส้นใย ขวดเก่า” เอเซอร์ร่วมกับวัดจากแดงปลุกจิตสำนึกเรื่องการคัดแยกขยะของพนักงานในองค์กรเอเซอร์ในการรวบรวมและนำส่งขวดน้ำพลาสติกส่งต่อให้กับศูนย์การเรียนรู้และจัดการขยะชุมชน “วัดจากแดง” เพื่อนำไปรีไซเคิลเป็นเส้นใยพลาสติกและผลิตเป็นผ้าไตรจีวรสำหรับพระสงฆ์ตั้งแต่เริ่มกิจกรรมจนถึงตอนนี้เราได้ส่งต่อขวดน้ำพลาสติกไปยังวัดจากแดง รวมแล้วมากกว่า 1,800 ขวดช่วยผลิตผ้าไตรจีวรได้มากว่า  120ชุด

“ภายในปีนี้เราจะมีการเปิดตัวจักรยานไฟฟ้าและสกู๊ตเตอร์พลังงานไฟฟ้าภายใต้กลุ่ม Vero เพราะเรามองว่าเอเซอร์ไม่จำเป็นจะต้องหยุดอยู่ที่การขายคอมพิวเตอร์ เพราะถ้าเรามองว่าบริษัทไอทีอาจจะใกล้อิ่มตัว การหาธุรกิจใหม่ๆเข้ามาเสริมจะช่วยให้เราเติบโตอย่างยั่งยืน  เราเป็นเพียงส่วนเล็กๆที่ทำเรื่องนี้ แต่ถ้าวันหนึ่งและอยากเห็นแบรนด์อื่นๆโดยเฉพาะที่ทำ Home appliance ทำเรื่องพวกนี้เช่นกัน เพราะถ้าเขาคิดเหมือนเราบริษัทเหล่านี้มีโวลุ่มที่มากกว่าเราถ้าเขาทำ บริษัทที่ทำ PCR ก็จะผลิตใน Volume ที่เพิ่มมากขึ้น ต้นทุนก็จะลดลง”

นิธิพัทธ์กล่าวในท้ายที่สุดถึงอนาคตเอเซอร์  มีแผนในการผลักดันสินค้าโน้ตบุ๊คกลุ่ม Vero เข้าสู่องค์กรต่างๆ เพื่อเพิ่ม Volume ในการผลิตให้สินค้ารักษ์เติบโตมากกว่าที่ตั้งเป้าไว้

You Might Also Like