ALTERNATIVE

ถึงเวลาหรือยัง ที่ต้องคิดใหม่ว่าการลงทุน ESG หมายถึงอะไร?

22 กันยายน 2565…เมื่อ Tesla ออกจากดัชนี ESG แต่ยังอยู่ในดัชนีอื่น ๆ และ Exxon อยู่ลำดับสูงๆ ในดัชนีทั้งๆที่เป็นบริษัทผลิตน้ํามัน จึงมีคำถามว่า ในภาพรวม การลงทุน ESG จัดลําดับความสําคัญอย่างไร?

เมื่อ Tesla ถูกปลดออกจากดัชนี S&P 500 ESG เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นดัชนีที่จัดอันดับบริษัทตามข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล Elon Musk ตอบโต้ด้วยการทวีตว่า ESG เป็น“การหลอกลวง” และชี้ให้เห็นว่า Exxon ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทที่ก่อมลพิษมากที่สุดในโลกถูกจัดให้อยู่ใน 10 บริษัทที่ดีที่สุดในดัชนีนี้

ในโพสต์บล็อก S&P อธิบายว่า Tesla ถูกปลดออก เพราะแม้จะผลิตรถยนต์ไฟฟ้า แต่ก็ไม่มีกลยุทธ์คาร์บอนต่ำ พวกเขาอ้างถึงการขาดจรรยาบรรณทางธุรกิจของ Tesla พร้อมกับรายงานการเลือกปฏิบัติและสภาพการทํางานเป็นอันตรายที่โรงงานในแคลิฟอร์เนีย รวมถึงยังถูกสํานักงานความปลอดภัยการจราจรบนทางหลวงแห่งชาติสอบสวน (บริษัทผู้ผลิต EV แห่งนี้ยังมีรายชื่ออยู่ใน Toxic 100 Air Polluters เป็นบริษัทที่ปล่อยมลพิษจากโรงงานแบตเตอรี่ นอกจากนั้นโรงงานในเยอรมนียังถูกปรับเนื่องจากไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่กําหนดให้รีไซเคิลแบตเตอรี่ที่ใช้แล้ว และตอนต้นปีนี้ก็ถูก EPA ปรับ เนื่องจากละเมิดพระราชบัญญัติอากาศบริสุทธิ์ เพราะปล่อยมลพิษจากโรงงานในแคลิฟอร์เนีย)

เห็นชัดว่า Tesla มีข้อบกพร่อง แต่ถ้ากองทุน ESG อื่น ๆ ยังคงรวม Tesla อยู่ต่อไป ขณะที่ดัชนี ESG ของ S&P ยังคงรวมบริษัทน้ำมันอยู่ด้วย และดัชนีความยั่งยืนของ Dow Jones ยังรวมยักษ์ใหญ่ด้านยาสูบอย่าง Philip Morris คำถามคือ การลงทุน ESG จะให้คำจำกัดความเรื่องความรับผิดชอบขององค์กรโดยรวมอย่างไร ?

เรื่องแรกที่ต้องเข้าใจ คือ
ความหมายของการลงทุนด้าน ESG

ทั้งนี้ การจัดอันดับ ESG ส่วนใหญ่ไม่ได้มองถึงผลกระทบที่บริษัทมีต่อสิ่งแวดล้อมหรือสังคม แต่เป็นวิธีที่นักลงทุนกําลังประเมินความเสี่ยงทางการเงินที่บริษัทต้องเผชิญจากปัญหาสิ่งแวดล้อมหรือสังคม ขณะที่การลงทุนด้าน ESG เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยสินทรัพย์ที่อาจสูงถึง 41 ล้านล้านดอลลาร์ภายในสิ้นปี 2022 คําถามสำคัญจึงอยู่ที่ว่า กําลังวัดสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่

“ผู้ประเมินด้าน ESG ใช้ภาษาค่อนข้างคลุมเครือ เมื่อคุยเรื่องนี้”  Thomas Lyon ผู้อํานวยการสถาบัน Erb Institute for Global Sustainable Enterprise จาก Ross School of Business มหาวิทยาลัยมิชิแกนกล่าว “พวกเขาชอบพูดคำว่า ‘สาระสําคัญ’ ซึ่งหมายความว่าสิ่งนี้จะมีผลกระทบอย่างมีนัยสําคัญต่อผลกําไรของเราหรือไม่? ไม่ได้ถามว่า ‘มันจะมีผลกระทบต่อโลกหรือต่อผู้คนหรือไม่’ มันเน้นแต่เรื่องกําไร” 

เช่น MSCI ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทใหญ่ที่สุดที่ให้คะแนนบริษัทต่างๆเรื่อง ESG ระบุในเว็บไซต์ว่าการจัดอันดับไม่ใช่การวัด ‘ความดี’ ขององค์กรทั่วไป” หรือแม้แต่ “พ้องกับคำว่าการลงทุนอย่างยั่งยืน” แต่พวกเขา “เปิดพื้นที่ ว่าเป็นแง่มุมหนึ่งเพื่อพิจารณาความเสี่ยงที่มีต่อผลประกอบการทางการเงิน”

แนวคิดของการลงทุน ESG เกิดขึ้นจากการลงทุนที่รับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่นักลงทุนใช้ในการเลือกอย่างมีจริยธรรมมากขึ้น แต่แนวทาง ESG มุ่งเน้นไปที่ผลกําไร ในปี 2005 รายงานของสหประชาชาติแย้งว่านักลงทุนจําเป็นต้องพิจารณาว่าบริษัทต่างๆจัดการกับความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลในวงกว้างมากขึ้นอย่างไร เนื่องจากบริษัทที่จัดการอย่างมีความรับผิดชอบ ทางทฤษฎี ในที่สุดจะทำผลประกอบการได้ดีขึ้น (การศึกษาจํานวนมากระบุว่ามี ความสัมพันธ์เชิงบวกระหว่าง ESG และผลการดําเนินงานทางการเงิน)

ปัจจุบันนี้มีการให้คะแนนหลายระบบ ให้คะแนนแก่บริษัทต่างๆ ในลิสต์รายการที่เป็นปัจจัยต่างๆ ยาวเหยียด ตั้งแต่กลยุทธ์การรีไซเคิลไปจนถึงสิทธิมนุษยชน แต่ตัวเลือกบางอย่างก็ดูเหมือนไร้เหตุผล เช่น ดัชนี S&P จะคัดกรองบริษัทที่สกัด oil sand แต่ไม่ใช่บริษัทผู้ผลิตน้ำมันอย่างที่คนทั่วไปรู้จัก ขณะที่ S&P 500 รวมบริษัทเชื้อเพลิงฟอสซิลเข้าไปด้วย—แม้นักวิเคราะห์จะเตือนว่าบริษัทเหล่านั้นเผชิญกับความเสี่ยงทางการเงิน เพราะผลกระทบจากภาวะโลกรวนก็ตาม

แต่ละบริษัทที่จัดอันดับ ESG ก็ใช้เกณฑ์ที่แตกต่างกัน และรายละเอียดของวิธีการก็ไม่ค่อยโปร่งใสเท่าไหร่ อันดับของบริษัทใดบริษัทหนึ่งสามารถแตกต่างอย่างมาก จากหมวดหนึ่งไปสู่อีกหมวดหนึ่ง

คลิกภาพเข้าเว็ปไซต์

“สิ่งที่อันตรายคือผู้ประเมินแต่ละคนต้องการเก็บเคล็ดลับของพวกเขาไว้—คุณรู้ไหมว่า ‘ฉันมีกลวิธีแสนวิเศษที่จะช่วยให้คุณทําเงินได้มากมาย และบอกคุณไม่ได้ว่ามันคืออะไร แต่เชื่อฉันเถอะ มันทําเงินมากกว่าของฝ่ายโน้นแน่” Lyon กล่าว “และเพราะพวกเขามีแรงจูงใจที่จะเก็บวิธีการไว้เป็นความลับ จึงไม่น่าจะมีบูรณาการของการจัดอันดับเหล่านี้เข้าด้วยกันในอนาคตแน่นอน”

เนื่องจากดัชนีส่วนใหญ่ไม่ได้วัดผลกระทบแท้จริงที่บริษัทต่างๆทำให้เกิดขึ้น คะแนนของพวกเขาอาจเพิ่มขึ้นแม้ผลการดำเนินงานจะแย่ลงก็ตาม แม้การปล่อยมลพิษของ McDonald จะเพิ่มขึ้น 16% ระหว่างปี 2015 ถึง 2020 แต่ McDonald’s ก็กําลังได้รับการอัพเกรดสกอร์เกี่ยวกับ ESG

Hans Taparia ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ที่ NYU Stern School of Business กล่าวว่า “นั่นเป็นเพราะการปล่อยมลพิษเหล่านั้น .. . ไม่ถือว่าเป็นความเสี่ยงสําหรับบริษัท ตอนนี้ทุกอย่างกําลังถูกตัดสินจากความเสี่ยงทางการเงินต่อบริษัทต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผลอย่างยิ่ง”

นอกจากนี้คะแนนมักจะไม่รวมเกณฑ์ เช่น กิจกรรมทางการเมืองขององค์กร ตัวอย่างเช่น เอ็กซอนใช้เงินหลายล้านในการล็อบบี้เพื่อชะลอการดําเนินการด้านสภาพอากาศ โดยเผยแพร่ข้อมูลที่บิดเบือน รวมถึงการให้ข้อมูลตรงกันข้ามที่โต้แย้งว่าวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับภูมิอากาศนั้น “เชื่อถือไม่ได้” และบอกว่าภาวะโลกรวน เป็นเพียง “การโฆษณาชวนเชื่อของสื่อ”

เหนือสิ่งอื่นใด Exxon ให้ทุนสนับสนุน Competitive Enterprise Institute ซึ่งเป็นองค์กรที่แสดงโฆษณาโปรโมต CO2 โดยกล่าวว่า “คุณเรียกว่ามลพิษ เราเรียกมันว่าชีวิต” Lyon กล่าวว่า “เอ็กซอนมีประวัติไม่ดีนักด้านการมีส่วนร่วมทางการเมือง แต่ผู้ประเมิน ESG ส่วนใหญ่ไม่ใส่ใจกับสิ่งนั้นเลย”

จากข้อมูลของ Lyon ในมุมของกองทุน ESG ขนาดย่อม ซึ่งไม่รวมบริษัทเชื้อเพลิงฟอสซิล โลกเกี่ยวกับ ESG เริ่มพูดถึงการจัดอันดับบริษัท โดยอิงกับผลกระทบควบคู่กับความเสี่ยงทางการเงิน แต่ก็มีแนวโน้มเคลื่อนไปในทิศทางอื่นด้วย ทั้งนี้ Global Reporting Initiative ซึ่งเป็นองค์กรช่วยบริษัทต่างๆ เรื่องการรายงานผลกระทบต่อภาวะโลกรวน สิทธิมนุษยชน และประเด็นอื่นๆ อาจถูกแทนที่ด้วยความร่วมมือที่กว้างขึ้นกว่าเดิม ระหว่าง World Economic Forum และสํานักงานบัญชีขนาดใหญ่ที่มุ่งสร้างมาตรฐานการรายงานความยั่งยืน ผลลัพธ์ที่ได้ก็อาจดูเหมือนการจัดอันดับ ESG ในปัจจุบัน

“สิ่งที่พวกเขากําลังทําอยู่คือ มุ่งความสนใจไปสู่สิ่งที่นักลงทุนสนใจมากที่สุด และนั่นเป็นสิ่งง่ายที่สุดในการวัดผล” ลียงกล่าว “หากขาดมาตรฐาน GRI และเน้นเฉพาะสิ่งที่นักลงทุนสนใจ เราก็จะขาดภาพกว้างในการพิจารณาว่าต้องปกป้องโลกใบนี้อย่างไร”

Taparia ให้ความเห็นว่า การลงทุนเกี่ยวกับ ESG ควรพัฒนาเพื่อให้สามารถติดตามว่าบริษัทต่างๆกําลังลดผลกระทบด้านลบต่อโลกด้วยหรือไม่ แทนที่จะพึ่งพาการจัดอันดับ ESG จากภายนอกอย่างเดียว และเป็นเรื่องสมเหตุสมผลสําหรับนักลงทุนที่จะเปรียบเทียบผลการดําเนินงาน ESG ขององค์กร

“พวกเขาควรตัดสินด้วยตัวเอง และทําวิจัยของตัวเอง”

ที่มา

 

 

You Might Also Like