ACTIVITIES

ชื่อผลงาน : “ความเป็นคน” ในเชื้อชาติ และในสิ่งแวดล้อม

16-17 พฤศจิกายน 2562…ก่อนที่กองบก. SD Perspectives จะแลกเปลี่ยนมุมมองกัน เรามาดูงานศิลปะภาพถ่ายดีเด่น และภาพยนตร์ยอดเยี่ยม จากเวที “โครงการรางวัลยุวศิลปินไทย หรือ Young Thai Artist Award” 2562 โดยมูลนิธิเอสซีจี

ชื่อผลงาน : มนุษย์ การกระทำ 2
เทคนิค : ภาพถ่ายดิจิตอล
ขนาด : 10 x 10 นิ้ว

นำพล ทิมศรี จากวิทยาลัยการออกแบบ มหาวิทยาลัยรังสิต ต้องทำงานส่งในวิชา Documentory ดังนั้น การลงพื้นที่จริงเพื่อหาข้อมูลในการทำงานส่ง จึงเป็นเรื่องที่จะต้องทำ และด้วยความสนใจส่วนตัวเรื่องการรุกล้ำที่สาธารณะ เป็นชุมชนแออัด ได้รับคำแนะนำจากอาจารย์ให้ลองมองชุมชน แถวเกษตร นวมินทร์ บางบัว เนื่องจากบริเวณนั้นจะกลายเป็นภาพประวัติศาสตร์ เพราะจะกลายเป็นบ้านมั่นคงฯ

“2 เดือนที่ผมลงพื้นที่ พูดคุยกับชุมชนมีคำถาม รู้สึกอย่างไรกับสิ่งแวดล้อมตรงนี้ ซึ่งอยู่กับน้ำเน่าเสีย เขาบอกว่ามันไปไหนไม่ได้ มีปัจจัยหลายอย่างไปไหนไม่ได้ ผมถามว่าน้ำเน่าเสียเกิดได้อย่างไร เขาบอกว่าพวกโรงงานอุตสาหกรรมลอบปล่อยน้ำเสียจากโรงงานตอนตี 1 ตี 2 ผมตีความจากตรงนี้”

การปกปิด ปิดบัง ซ่อน คือแนวความคิด สิ่งที่ต้องการสื่อสาร เป็นความอ้อนวอน ให้ธรรมชาติกลับมาเป็นเหมือนเดิม แต่ก็ทำอะไรไม่ได้มากนัก เพราะมีปัจจัยหลายอย่าง เรื่องเศรษฐกิจ เขาเป็นคนหาเช้ากินค่ำ การย้ายออกไปจึงเป็นเรื่องลำบากในการเดินทาง มีผลต่อค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น

“เรื่องสิ่งแวดล้อม สภาพธรรมชาติเราตอนนี้แย่ลงทุกวันตกต่ำเรื่อย ๆ สาเหตุหลัก ๆ คือมาจากตัวเราเอง ซึ่งหากเราไม่มีธรรมชาติในการดำรงชีวิต มนุษย์จะอยู่ไม่ได้ เพราะที่ ๆ เรายืนอยู่ตอนนี้ คือธรรมชาติที่เกิดตั้งแต่แรกแล้ว เหมือนกับว่า ตอนแรกมนุษย์มาขออยู่อาศัย แต่ปัจจุบันมนุษย์บุกรุกธรรมชาติมากแล้ว”   นำพลแสดงมุมมอง “ความเป็นคน” ในสิ่งแวดล้อม ตอนท้ายของการแลกเปลี่ยน
ชื่อผลงาน : เอเลี่ยนเนท
ปีที่สร้างผลงาน : 2562
ความยาว : 30 นาที

คลิกภาพ ชมภาพยนตร์

ดูภาพยนตร์จบ ถามตัวเองว่า เราเองเคยรู้สึก หรือเคยพูดแบบที่ลูกค้าในเรื่องกำลังสั่งเครื่องดื่มไหม? (ตอบในใจก็ได้)

ปฏิภาณ ศิริไพบูลย์ จากคณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เจ้าของงานก็ตั้งคำถามนี้ต่อตัวเขาเองเช่นกัน และยังรู้สึกต่อว่า เอาเข้าจริง พี่ ๆ แรงงานต่าง ชาติเหล่านี้อยู่ใกล้ตัวเรามาก ในช่วงเวลาทำงาน แม้ว่าบางอาชีพของแรงงานต่างชาติเหล่านี้ จะถูกแบ่งสัดส่วนที่พักอย่างชัดเจน เช่นด้านหนึ่งเป็นมหาวิทยาลัย ส่วนที่รั้วติดกัน เป็นแคมป์คนงานก่อสร้างซึ่งมีสัดส่วนแรงงานต่างชาติมากกว่าคนไทย

“ผมเองก็กำลังเรียน และจะจบไปทำงาน เวลาไปทำงานจะเป็นอย่างไร เพราะเราก็ไม่ใช่คนเก่งแบบว่า หางานได้ตอนวัยเรียน ซึ่งก็เหมือนพี่ๆ กลุ่มนี้ที่เขามาทำงานและต้องเผชิญโชคในต่างบ้านต่างเหมืองเหมือนกัน เขาต้องหางานทำ หาอะไรต่าง ๆ เลยคิดว่าจะนำอินเนอร์ตรงนี้มาใส่หนัง”

ปฏิภาณ เล่าต่อว่า เมื่อไปคุยกับเขา ซึ่งเขาก็เป็นวัยรุ่นเฉกเช่นตนเอง ได้ชีวิต ได้ความรู้สึกเขา เช่นอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เราพูดไม่คิดในร้านหมูกระทะ ซึ่งเวลาเขาคุยกับเราเขาค่อนข้างถ่อมตัว แต่เวลาเราพูดกับเขา คำพูดเราดูร้ายกับเขา เขาอยู่ของเขาดี ๆ เราก็ไปล้อเขา พูดไม่ชัด อะไรอย่างนี้ กลับกันถ้ามีคนมาล้อคนไทยเราก็จะรู้สึกว่า “แม่ง เหยียดวะ” แต่พอเราทำกับคนอื่นเราไม่ค่อยคิดเท่าไหร่ !

เนื้อเรื่องย่อภาพยนตร์ …หนุ่มแรงงานชาวพม่าต้องเข้ามาทำงานอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้เขาตกอยู่ในสภาพความเป็นรองค่อสถานการณ์ เขาจึงเลือกตัดสินใจเป็นนายตนเอง โดยวิธีการเปิดร้านหมูกระทะรับส่งเพื่อเลี้งชีพของตน แล้วเรื่องก็หักมุมตอนจบ

“อีกเรื่องที่มาจากการคุยกับพี่ ๆ น่าจะเป็นเรื่องเอกสารของเขา บางเรื่องเขาไม่รู้ว่าเอกสารอะไรบ้าง อย่างพาสปอร์ตตัวจริงต้องเก็บไว้กับตัว แต่ก็ถูกนายจ้างเก็บไว้ แล้วเอาพาสปอร์ตเป็นตัวประกัน ความเหลื่อมล้ำ ความเป็นคนของเขา ความเป็นคนของเรา”

กรรมการสาขาภาพยนตร์ ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับผลงานยอดเยี่ยมว่า ปัจจุบันสังคมโลกให้ความสำคัญกับความหลากหลาย (Diversity) ของมนุษย์ การยอมรับในความแตกต่างที่สามารถอยู่ร่วมกันได้ วันนี้เราได้เห็นภาพยนตร์เรื่อง Alienate ที่หมายถึงการทำให้แตกกัน หรือบาดหมางกัน มีเรื่องราวที่สะท้อนความหลากหลายในชาติพันธุ์ของมนุษย์ ตัวละครต้องเผชิญกับการเหยียดเชื้อชาติ (Racism) ในเมืองไทย ขัดแย้งกับกระแสสังคมโลก ดูแล้วรู้สึกหน้าชาราวถูกตบอย่างแรง และปฏิเสธไม่ได้เลย เพราะปัญหาแรงงานต่างชาติกับนายจ้างคนไทยเหล่านี้เกิดขึ้นได้เสมอ สิ่งที่น่าชมเชยสำหรับผู้สร้างภาพยนตร์เรื่อง Alienate คือ ได้ผ่านการค้นคว้ามาอย่างดี รวมถึงการไม่ใช้นักแสดงอาชีพ การใช้ฉาก ภาษา บทสนทนาที่เป็นธรรมชาติ เก็บรายละเอียด ถ่ายทอดผ่านภาพยนตร์ขาวดำจนให้ความรู้สึกมากกว่าแนว Realism แต่เป็น ‘Super-realism

เชาวลิต เอกบุตร กรรมการบริหารมูลนิธิเอสซีจี กล่าวว่า ในปีนี้มีเยาวชนผู้สนใจจากมหาวิทยาลัยชั้นนำหลากหลายสถาบันทั่วประเทศส่งผลงานเข้าร่วมประกวดกันมากขึ้น ซึ่งทุก ๆ ผลงานศิลปะที่ผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการในปีนี้ทั้ง 36 ผลงาน ได้นำมาจัดแสดง ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ด้วยหอศิลป์แห่งนี้ตั้งอยู่บนพื้นที่กลางใจเมือง ถือเป็นหอศิลป์ร่วมสมัย เป็นศูนย์กลางด้านศิลปะที่ช่วยส่งเสริมให้คนเข้าถึงศิลปะได้มากขึ้น นับเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สร้างแรงบันดาลใจ และจุดประกายความคิดสร้างสรรค์

“ผมในนามมูลนิธิ ฯ มีความเชื่อมั่นในคุณค่าของคนโดยเฉพาะน้อง ๆ ยุวศิลปินไทยทุกคน หากมุ่งมั่นพัฒนาฝีมือและสร้างสรรค์ผลงานศิลปะให้มีคุณภาพและคุณค่าต่อไปย่อมจะประสบความสำเร็จในการเติบโตเป็นศิลปิน และมีโอกาสแสดงผลงานให้เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชนในเวทีระดับสากลได้อย่างแน่นอน”

มูลนิธิ ฯ ดำเนินโครงการรางวัลยุวศิลปินไทยนั้นได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี จากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านศิลปะหลากหลายแขนงกว่า 67 ท่าน อาทิศิลปินแห่งชาติสาขาต่างๆ คณาจารย์ผู้มีประสบการณ์ ผู้ทรงคุณวุฒิผู้คร่ำหวอดในวงการศิลปะและเป็นที่ยอมรับในระดับชาติ  ทำให้รางวัลนี้ได้รับความเชื่อถือและการยอมรับในระดับสากลในเรื่องความเที่ยงธรรมมาโดยตลอด และยังคงสร้างมาตรฐานการประกวดด้านศิลปะสำหรับเยาวชนในประเทศให้มีระดับสูงทัดเทียมศิลปินรุ่นใหญ่และนานาชาติ

คณะกรรมการตัดสินรางวัล พร้อมผู้บริหารมูลนิธิเอสซีจี และผู้รับรางวัลยอดเยี่มทั้ง 5 สาขา โดยปฏิภาณ(นั่งซ้าย) เป็น 1 ในผู้รับรางวัล และบรรยากาศบางส่วนของผู้รับรางวัลดีเด่นคือนำพล นอกจากนี้จะมีครอบครัวมาร่วมแสดงความยินดีกับผู้รับรางวัลทุกปี เช่นเดียวกับปีนี้

ในปี 2562 นี้ ผลงานยอดเยี่ยมที่ได้รับรางวัลถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีทั้ง 6 สาขานั้น ล้วนมาจากฝีมือและความคิดสร้างสรรรค์ของเยาวชนไทยที่ได้รับการยอมรับเชิงประจักษ์ว่าเปี่ยมด้วยพลังเชิงชั้นศิลปะที่มีอัตลักษณ์ของยุวศิลปินรุ่นใหม่ ดังนี้

ศิลปะ 2 มิติ (Two-Dimensional Art) ได้แก่ พลังแห่งสีสันตะวันออก หมายเลข 3 โดย วริศรา อภิสัมภินวงศ์ ศิลปะ 3 มิติ (Three-Dimension Art) ได้แก่ ระบำใจ โดย นารีญา คงโนนนอก ภาพถ่าย (Photography) ได้แก่ Natural Wondersโดย ธรรมรัตน์ กิตติวัฒโนคุณ ภาพยนตร์ (Film) ได้แก่ เอเลี่ยนเนท โดย ปฏิภาณ ศิริไพบูลย์ การประพันธ์ดนตรี (Music Composition) ได้แก่ Fainted Glimmering Light โดย ชวิน เต็มสิทธิโชค ส่วน วรรณกรรม (Literature) ปีนี้ไม่มีผู้ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม

มูลนิธิ ฯ จึงได้จัดแสดงนิทรรศการผลงานยอดเยี่ยมและผลงานดีเด่นโครงการรางวัลยุวศิลปินไทย ตั้งแต่วันนี้ถึง 25 พฤศจิกายน 2562 เวลา 10.00 – 21.00 น. ณ ลานชั้น L หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร BACC (หยุดวันจันทร์)

 

 

You Might Also Like