BIODIVERSITY & REGENERATIVE

อาสาสมัครในภาคธุรกิจ เป็นหัวใจหลักประการหนึ่งของงาน CSR & Sustainability

7 มกราคม 2562…เก็บตกจาก Corporate Volunteer 4.0 Class วันก่อนนักศึกษาถามว่า Volunteer มีการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยหรือไม่ และมี version 4.0 เหมือนกับ Thailand 4.0 หรือเปล่า แต่ละ Version มีความต่างกันอย่างไร

ผมก็คิดตาม และพยายามอธิบายพัฒนาการของวงการอาสาสมัครในภาคธุรกิจ ใน Version ต่างๆให้นักศึกษาฟังดังนี้

– อาสาสมัครในภาคธุรกิจนั้น จะเป็นหัวใจหลักประการหนึ่งของงาน CSR & Sustainability และ เป็นตัวขับเคลื่อนงาน และสะท้อน DNA ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรนั้นๆอย่างชัดเจน

-ในยุคแรกๆ ที่เราเรียกว่า CSR & Volunteer 1.0 นั้น งานอาสาสมัครมักจะเขื่อมโยงกับการให้ (Philanthropy) เช่นไปบริจาคเงินทุน การบริจาคของ สินค้า และบริการ การให้ทุนการศึกษา ซึ่งเรามักจะเห็นภาพถ่าย PR ในหนังสือพิมพ์เป็นรูปผู้บริหารมอบเช็คใบใหญ่ให้กับองค์กรการกุศลต่างๆอย่างชินตา

– ต่อมาในยุค CSR & Volunteer 2.0 จะเข้ามาสู่ยุค After Process CSR ซึ่งเรามักจะเห็นอาสาสมัครลงไปทำงานโครงการ บริการชุมชน ปลูกป่า สร้างฝาย ซ่อมแซมโรงเรียน ส่วนใหญ่จะเห็นภาพ PR เป็นภาพผู้บริหารและพนักงานใส่เสื้อ สีเดียวกัน มี Logo บริษัท ออกไปทำกิจกรรมต่างๆกันอย่างสนุกสนาน มีกิจกรรมต่างๆหลากหลาย แต่มักจะไม่ต่อเนื่อง มี output แต่ไม่ค่อยจะมี outcome

– ต่อมาในยุค CSR & Volunteer 3.0 งานอาสาสมัครส่วนใหญ่จะเป็นการอาสาทำงานตามยุทธศาสตร์ขององค์กร เป็นงานอาสาเพื่อเพิ่มศักยภาพของงานของฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับชุมชน และสิ่งแวดล้อม เช่นช่วยกันรณรงค์ลดการใช้พลังงาน ลดขยะของเสีย ร่วมมือกับชุมชนเพื่อให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หรือหลายท่านอาจเรียกว่า อาสาเพื่อ CSV (Creating Shared Value) ซึ่งจะต้องทำแล้วเกิดประโยชน์ร่วมทั้งสองฝ่าย และเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ได้ผลชัดเจน เป็นแบบ outcome base volunteer ซึ่งจะต้องทำอย่างต่อเนื่อง มีการติดตามผลงานและพัฒนาการตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ขององค์กรอย่างชัดเจน

ในยุคนี้บางครั้งอาจจะแยกไม่ออกเลยว่าเป็นงานประจำวันหรืองานอาสาสมัคร

– และในยุค CSR & Volunteer 4.0 งานอาสาสมัครก็ต้องเพิ่มขีดดความสามารถ และยกระดับไปอีกขั้นหนึ่ง … โดยเกิดการร่วมมือกับองค์กรต่างๆที่มีความคิดคล้ายกัน มีเป้าหมายเดียวกัน ทำงานกันเป็นเครือข่ายตั้งแต่ระดับนโยบายของประเทศ จนถึงระดับปฏิบัติการในระดับชุมชน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จนเกิด Impact ตัวอย่างเช่น การรวมตัวกันเป็นเครือข่ายต่อต้านคอรัปชั่น หรือการสร้างความร่วมมือเกี่ยวกับประชารัฐด้านต่างๆเป็นต้น

ในยุคนี้มักจะใช้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นเป้าหมายร่วม หรือเรียกว่าเป็นยุค Volunteer for SDGs

มีอีกคำถามหนึ่งที่นักศึกษาพูดคุยกันมากว่า ทั้ง 4 ยุค มีอะไรที่เหมือนกัน และอะไรคือแรงจูงใจ หรือ ผลประโยชน์ที่อาสาสมัครได้รับ ?

ผลสรุป คือ ทุกคนเห็นตรงกันว่า ความเหมือนกันทั้ง 4 ยุคก็คือ อาสาสมัคร เป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างมากในการขับเคลื่อนและพัฒนาสังคมไทย คนที่มาเป็นอาสาสมัครนั้นมักจะเห็นประโยชน์ส่วนรวม มากกว่าประโยชน์ส่วนตน และสิ่งที่พวกเขาเหล่านั้นได้อาสาทำ เป็นสิ่งที่พวกเขารัก สนใจ และมี Passion … พวกเขารู้สึกเป็นเกียรติที่มีโอกาสได้อาสารับใช้สังคม  

และสิ่งที่พวกเขาได้รับตอบแทนกลับมาเหมือนกันก็คือ … “ความสุขใจ”

เรื่องโดย สุกิจ อุทินทุ รองคณบดี วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คอลัมน์ CSR Man เซคชั่น Partnerships

 

 

You Might Also Like