CSR

หลากหลายหัวใจเดียวกัน สิงห์อาสานำเครือข่ายนักศึกษา 11 สถาบันมอบเสื้อกันหนาว พร้อมนำหน่วยแพทย์เคลื่อนที่มูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดีช่วยดูแลสุขภาพประชาชน 32 ปีต่อเนื่อง

7 ธันวาคม 2562…ช่วงฤดูหนาวทุกพื้นที่บนดอยหรือบนเขาในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในประเทศไทย มักจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพต่อเด็ก ๆ และผู้ใหญ่ จึงเป็นหน้าที่ของสิงห์อาสามอบเสื้อกันหนาวเพื่อสร้างความอบอุ่น พร้อมกับหน่วยแพทย์เคลื่อนที่มูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดี ก็ช่วยดูแลสุขภาพเป็นปีที่ 32

“สำหรับปี 2562 สิงห์อาสา มอบเสื้อกันหนาว 50,000 ตัว & หน่วยแพทย์เคลื่อนที่มูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดี เราเริ่มที่โรงเรียนบ้านดอยแสนใจ (ตชด.อนุสรณ์) ดอยแม่สลอง เชียงรายเป็นแห่งแรก หลังจากนี้ก็จะไปที่หมู่บ้านที่ประสบภัยหนาวในจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดน่าน และจังหวัดเลย โดยทุกแห่งที่ไปจะมีพันธมิตรซึ่งเป็นคู่ค้าของเรา เห็นสิงห์อาสา หน่วยแพทย์ฯทำงานจริงจัง ต่อเนื่อง ก็เข้ามาร่วมกับเรา มีทั้งชมรมร้านอาหาร ผู้ประกอบการ ให้ความช่วยเหลือทั้งเรื่องอาหาร อุปกรณ์กีฬา ทุนการศึกษา ก็มาช่วย หรือธุรกิจเสื้อผ้า ก็มาช่วยเหลือนำชุดนักเรียนมาแจก ตอนนี้ก็เลยกลายเป็นมากันประจำ”

รังสฤษดิ์ ลักษิตานนท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ขยายความเพิ่มเติมว่า ทุกครั้งที่จะไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย หรือผู้ขาดแคลนเช่นเมื่อเข้าสู่หน้าหนาวเช่นนี้ ทีมสำรวจจะสอบถามเพิ่มเติมว่า ยังขาดเหลืออะไรบ้าง ซึ่งในส่วนสิงห์อาสาจะเข้ามาเติมเต็ม อย่างเช่นที่ที่โรงเรียนดอยแสนใจ ต.แม่สลองใน อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย แห่งนี้ ก็ช่วยทาสีห้องน้ำ ห้องสมุด เสริมสร้างวิถีเกษตรพอเพียงในโรงเรียน และดูแลสุขภาพคนในชุมชน โดยมีอีกแรงใจ กำลังสมอง กำลังกายที่เข้ามาช่วยคือ สิงห์อาสาแต่ละภูมิภาค

กลุ่มนักศึกษาเครือข่ายสิงห์อาสาภาคเหนือ จำนวนกว่า 100 คน จาก 11 สถาบัน ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา วิทยาเขตเชียงราย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา วิทยาเขตเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม และ มหาวิทยาลัยพะเยา ได้ร่วมทำกิจกรรมกับเด็ก ๆ เพื่อส่งเสริมพัฒนาการและเปิดโอกาสให้เด็กในถิ่นทุรกันดารได้เรียนรู้เพิ่มทักษะในด้านต่าง ๆ กิจกรรมโรงเรียนเกษตรพอเพียง กิจกรรมเลี้ยงอาหารกลางวัน กิจกรรมออกหน่วยตรวจสุขภาพให้กับชาวบ้านในชุมชน

นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กฤษณา พวงดอก (ออย) สำนักวิชาการ สาขาการท่องเที่ยว ปี 3 และหมี่เพาะ แซพะ(แพท) สำนักวิชาอุตสาหกรรมเกษตร สาขาวิชา เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว และโลจิสติกส์ ซึ่งทั้งคู่เป็นนักศึกษาเครือข่ายสิงห์อาสา ได้เข้ามาร่วมเข้าพื้นที่ช่วยเหลือชุมชนครั้งนี้ สำหรับออยเป็นปีที่ 3 ส่วนแพทเป็นปีแรก ทำงานนี้นี้เป็นครั้งแรก

“วันนี้หนูทำหน้าที่เป็นล่ามให้คุณหมอ สำหรับชาวบ้านที่พูดภาษาไทยไม่ได้ ส่วนตัวเป็นคนชาวเผ่าได้ทุนการศึกษาจากสิงห์ตั้งแต่เรียนม.6จนจบปริญญาตรี พอเข้ามาหาวิทยาลัยก็เห็นชมรมครูดอยมีพี่ ๆ สิงห์อาสา อยากทำงานตรงนี้ ดีใจได้เข้ามาทำ เพราะทราบว่าสิงห์อาสาทำงานช่วยเหลือหลายอย่างมาก ในทุสุดก็มีโอกาสได้เข้ามา ได้ช่วยเหลือชุมชน มีความสุขมากค่ะ”

ส่วนออย ทำงานที่ได้รับมอบหมายคือบริเวณด้านหน้าเวที ช่วยแจกเสื้อกันหนาว ให้กับเด็ก ๆ เพื่อเพิ่มไออุ่น โดยออยเล่าว่า

“3 ปีที่ผ่านมา มีโอกาสไปทำงานในฐานะสิงห์อาสากับผู้ประสบภัยทุกรูปแบบ ภูมิใจที่ได้ทำหลายอย่าง ได้เห็นถึงการทำหน้าที่จิตอาสาอย่างแท้จริง ได้รู้จักเพื่อนใหม่ ๆ รวมถึงได้ถ่ายทอดประสบการณ์ใหม่ ๆ จากพี่ๆ สิงห์อาสา จากพื้นที่ที่ออยไปทำงาน ให้กับน้อง ๆ ในมหาวิทยาลัยในการเป็นนักศึกษาเครือข่ายสิงห์อาสา คำแนะนำสำหรับน้อง ๆ คือ แค่ใจอยากทำก็เป็นนักศึกษาเครือข่ายสิงห์อาสา ได้ค่ะ”

ทั้งนี้ พื้นที่ที่เข้าไปทำกิจกรรมในครั้งนี้ ประกอบไปด้วย 3 หมู่บ้าน คือ หมู่บ้านแสนใจ หมู่บ้านห้วยส้าน และหมู่บ้านแสนใจพัฒนา แต่ละหมู่บ้านมีประชากรประมาณ 500 คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำการเกษตร และมีประชากรส่วนใหญ่เป็นวัยทำงาน อีกทั้งยังมีผู้สูงอายุและคนพิการ

“ภารกิจที่เราให้ความสำคัญทุกครั้ง และทำต่อเนื่องมายาวนานกว่า 30 ปี ควบคู่ไปกับการมอบเสื้อกันหนาว คือ หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ในนามมูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดี ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายสำคัญ เพราะต้องการมีส่วนช่วยในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้กับชาวบ้าน ตลอดจนช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต และสร้างความเป็นอยู่ของชาวบ้านให้ดียิ่งขึ้น ดังนั้นเราจะมีการจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เข้าไปตรวจสุขภาพชาวบ้าน เรายังมีทีมแพทย์ที่เชี่ยวชาญ ซึ่งบางท่านมีอายุกว่า 80 ปี แล้ว แต่ยังคงทำหน้าที่นี้ด้วยความมุ่งมั่นและทุ่มเทตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา เพื่อทำให้ชาวบ้านรู้จักโรคภัย ไม่เจ็บไม่ป่วย ดังนั้นการที่ชาวบ้านมีสุขภาวะอนามัยที่แข็งแรง ถือเป็นสิ่งสำคัญของการดำเนินชีวิต” รังสฤษดิ์ขยายความเพิ่มเติม

มูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดี ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2518 ส่วนหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2530 โดยแพทย์หญิงดวงมณี วิเศษกุล ซึ่งขณะนั้นเป็นแพทย์ประจำอยู่ที่บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ได้เสนอความคิดว่าเราควรจะมีหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เพื่อออกไปให้การรักษาพยาบาลกับชาวบ้านในชนบทที่อยู่ห่างไกลและด้อยโอกาส โดยเป็นการรักษาและให้ความรู้ด้านสุขอนามัยแก่ผู้คน เริ่มต้นขึ้นครั้งแรกในจังหวัดเชียงราย

โครงการต่าง ๆ ทำเพื่อสร้างสุขภาพที่ดีให้กับคนชุมชน เช่น โครงการกองทุนสร้างส้วมให้กับหมูบ้านป่าลัน การสร้างศูนย์รับเลี้ยงเด็กบ้านลัน โครงการให้ความรู้เรื่องโรคเอดส์ โครงการป้องกันโรคขาดสารอาหาร หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ถือเป็นโครงการที่ได้รับความสนใจจากชาวบ้าน และยังคงดำเนินกิจกรรมมาอย่างต่อเนื่องทุกปีปัจจุบันมีแพทย์จากโรงพยาบาลต่าง ๆ ที่สละเวลาเพื่อออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่

ล่าสุด 29 พ.ย. 62 หน่วยแพทย์เคลื่อนที่มูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดี ได้ลงพื้นที่ออกตรวจให้ชาวบ้านที่ต.แม่ข้าวต้มและต.ท่าข้าวเลือก พื้นที่ในจ.เชียงราย นายแพทย์อนันต์ สุวัฒนวิโรจน์ นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ (นายแพทย์ ระดับ 11) ด้านกุมารศัลยศาสตร์ หนึ่งในคณะหน่วยแพทย์เคลื่อนที่มูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดี ที่ออกหน่วยตั้งแต่ครั้งแรกของการเริ่มก่อตั้ง จนกระทั่งถึงครั้งล่าสุดที่เชียงราย

“ระหว่างรับราชการทราบว่า มูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดี ได้ทำประโยชน์ให้ชุมชน ผมเลยคิดว่าน่าจะสามารถร่วมมือกับมูลนิธิฯ โดยพวกเราใช้ความสามารถ แรงกาย มาช่วยเหลือชุมชน สังคมและประเทศชาติได้ดีขึ้น ช่วงแรกเราหาสาเหตุการเจ็บป่วยก่อน เพื่อให้ทราบสาเหตุและปัญหาทางด้านสาธารณะสุขของชุมชนของชาวชนบทซึ่งพบ ชาวบ้านมีปัญหาทางเรื่องพยาธิเป็นส่วนใหญ่ อย่างอื่นก็มีโรคไทรอยด์ โรคข้อเข่าเสื่อม ซึ่งคนอายุมากใช้เข่ามากก็โอกาสเจ็บเข่า เข่าอักเสบ เป็นไข้หวัดต่าง ๆ ซึ่งเราจะให้คำแนะนำ และให้ยากลับไป เพื่อช่วยให้สุขภาพดีขึ้น และให้คำแนะนำการใช้ชีวิต การกินอยู่อย่างไรให้สุขภาพแข็งแรง เป็นต้น ผมรู้สึกมีความสุขทุกครั้งที่ได้ออกหน่วยตรวจสุขภาพประชาชน ได้ข้าไปช่วยเหลือพี่น้องชาวบ้าน การมาทำงานอาสาแบบนี้มีความสุข ได้เจอชุมชนหลากหลาย ซึ่งสาขาวิชาชีพที่ทำอยู่จะไม่มีโอกาสพบชุมชนมากเช่นนี้ ในยุคแรก ๆ มีคุณศิริจันทร์ ภิรมย์ภักดี พร้อมผู้บริหารอย่าง คุณปิยะ ภิรมย์ภักดี และ คุณสันติ ภิรมย์ภักดี และผู้บริหารของบุญรอดอีกหลายท่านมาร่วมสนับสนุนการออกหน่วยฯด้วย ทำให้ผมประทับใจมาก เพราะเห็นบุคคลที่นับถือ มาลงพื้นที่ออกหน่วยแบบนี้ คิดจะให้สังคมจริง ๆ สามารถสร้างความศรัทธาให้ผมอยู่ช่วยสังคมร่วมกับมูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดีมาอย่างยาวนาน ทุกคนในทีมทำงานแบบมีความสุข มีความตั้งใจมาช่วย มาด้วยใจ ไม่มีรายได้จากการทำงานตรงนี้ แต่ก็มาด้วยใจร่วมหน่วยแพทย์เคลื่อนที่มูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดี”

ด้าน แพทย์หญิงหทัยทิพย์ ชัยประภา กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง สาขาทารกแรกเกิดและปริกำเนิด โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์ แพทย์หญิงผู้มีแรงบันดาลใจมาจากอาจารย์แพทย์อย่างนายแพทย์อนันต์ ทีมแพทย์จากหน่วยแพทย์เคลื่อนที่มูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดีรุ่นแรก กล่าวว่า

“โดยส่วนตัวชื่นชอบการทำจิตอาสาและได้เรียนกับอาจารย์อนันต์ และอาจารย์ท่านอื่น ๆ ที่อยู่ในหน่วยแพทย์แห่งนี้ รู้สึกชื่นชมท่านทั้งหลายและประทับใจจึงอยากร่วมเป็นส่วนหนึ่ง อยากช่วยเหลือประชาชนที่ลำบาก ที่ไม่สามารถเดินทางไปรักษายังโรงพยาบาลได้ เรายินดีสละเวลา หากการมาช่วยเหลือทำให้พวกเขาหายเจ็บป่วยเรายินดีมาก รู้สึกมีความสุขทุกครั้งที่ได้มาออกตรวจฯ อบอุ่นและประทับใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งกับมูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดีที่มีปณิธานดูแลสังคมอย่างแท้จริง ซึ่งเราจะออกตรวจช่วยเหลือพี่น้องชาวบ้านต่อไปแน่นอน”

นับเป็นพลังการให้ที่ไม่สิ้นสุดของสิงห์อาสา และภารกิจหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ มูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดี พร้อมเครือข่ายพันธมิตร ยังคงทำงานเพื่อ “สุขภาพ” ที่ดีขึ้นของผู้ประสบภัยในปีที่ 32 อย่างต่อเนื่องตลอดไป

You Might Also Like