BIODIVERSITY & REGENERATIVE

วิถีชุมชน & เกษตรยั่งยืน ออกแบบได้ด้วย Purpose !

12 สิงหาคม 2562…ออกแบบวิถีชุมชน ออกแบบเกษตรยั่งยืน จำเป็นต้องคิดถึงทุก ๆ ห่วงโซ่ของชุมชน และการเกษตร ที่มีความพยายามจะเข้าสู่วิถีอินทรีย์ ซึ่งจากเวที SET Social Impact Day 2019 จะเห็นคนที่ทำได้ แต่ต้องใช้เวลา และความอดทน

ดร. อุดม หงส์ชาติกุล ผู้ก่อตั้ง Social Lab Thailand กล่าวว่า ความท้าทายในวันนี้ คือการมองให้เห็นเพื่อเข้าใจปัญหาที่เผชิญ ในวิถีเกษตรปัญหาคือความเหลื่อมล้ำ เกษตรกรสัดส่วนหนึ่งในสามของประชากรทั้งหมด อายุเฉลี่ยแค่ 58 ปี กับชีวิตที่ยากลำบาก “ห่วงโซ่อาหารยั่งยืน” หรือ Organic Tourism นำมาซึ่งการท่องเที่ยววิถีอินทรีย์ ที่มุ่งเน้นการเชื่อมโยงจากต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ ซึ่งที่สุดคือความยั่งยืน

ดร. ศิริกุล เลากัยกุล ผู้อำนวยการโครงการพอแล้วดี กล่าวว่า 3 ห่วง 2 เงื่อนไข คือกระบวนการภายใน โดยในหลวง รัชกาลที่ 9 ได้ทรงกำกับเรื่องคุณธรรมไว้ องค์ความรู้ของเรา ไม่ใช่เพื่อตัวเอง แต่ต้องเพื่อคนอื่นด้วย

ใครก็ตามที่รู้จักทางสายกลาง ย่อมพัฒนาได้สูงสุด รู้จักตน ประมาณตน นี่คืออันดับแรก รู้จุดแข็งของตัวเอง รู้จักอัตลักษณ์ของตัวเอง จะพัฒนาชุมชนใดต้องรู้จักชุมชนนั้น ต้องเคารพอัตลักษณ์ของเขา

ด้าน บมจ. เอเชีย เอวิเอชั่น มีโครงการ Social Impact ที่เริ่มจากความต้องการทำอะไรที่ต่อเนื่อง เชื่อมต่อการเดินทาง เชื่อมต่อคน เชื่อมต่อวัฒนธรรม นั่นเป็นที่มาของ Journey Dee  ขณะที่สายการบินสร้างการเติบโตให้บริษัท เราก็สร้างมลภาวะ สร้างขยะ จึงเอาความเสี่ยงมาเป็นโอกาสทางธุรกิจ เลือกโมเดลที่ทำงานกับชุมชนได้ สร้างกลุ่มการท่องเที่ยวใหม่ที่ตอบโจทย์ธุรกิจและชุมชนไปพร้อมกัน

บมจ. ไทยวา ผลิตและจำหน่ายวุ้นเส้นและเส้นก๋วยเตี๋ยว โจทย์คือทำอย่างไรให้เกษตรกรกลายเป็น Happy Chain ลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มรายได้ให้เขา “ไทยวาทำตั้งแต่สนับสนุนเกษตรอินทรีย์ นำโมบายแอปพลิเคชันมาใช้เพื่อสื่อสารกับเกษตรกร ทั้งเรื่องดินฟ้าอากาศ โรคพืช และจ่ายค่าตอบแทน สำคัญที่สุดคือการทำงานร่วมกัน”

เลี่ยม บุตรจันทา ปราชญ์ชาวบ้าน เจ้าของบ้านสวนออนซอน จ. ฉะเชิงเทรา เล่าว่านำหลักการป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง มาปรับใช้กับชีวิต

ปลูกต้นไม้ที่เป็นอาหาร เป็นยา ปลูกต้นไม้โตเร็วที่ให้ผลเก็บกินเร็ว ปลูกต้นไม้ที่ทอดประโยชน์ยาวนานเก็บกินตอนแก่ ทำนาด้วยความเคารพต่อแผ่นดิน พึ่งตัวเองได้แล้วก็ตั้งเป้าขยายผล ทุกวันนี้มีเงินก็ซื้อที่ปลูกป่า

เป้าหมายสูงสุดคือ การสร้างความอุดมให้แผ่นดิน “ป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง” นี่เองที่เป็นทางออก สวนออนซอนปัจจุบันกลายเป็นป่าที่ไม่มีรั้วเพื่อเปิดโอกาสให้ทุกคนเรียนรู้

อายุ จือปา ผู้ก่อตั้ง “อาข่า อ่ามา” แบรนด์กาแฟเพื่อสังคม เล่าว่าทำแบรนด์ชุมชนด้วยหลักชุมชนต้องอยู่ได้ แบรนด์อาข่า อ่ามา เกิดขึ้นโดยอาศัยการศึกษาเรียนรู้อย่างจริงจัง ทำงานร่วมกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ ช่วยกันพัฒนาเกษตรผสมผสาน เป้าหมายคือการแบ่งปันความยั่งยืน

เครดิต
#SETSocialImpactDay2019

 

 

You Might Also Like