BIODIVERSITY & REGENERATIVE

ธุรกิจค้าปลีกกับความยั่งยืนด้านสังคม : เส้นทางอาหารแห่งอนาคต

8 กุมภาพันธ์ 2562…ตัวแทนธุรกิจชั้นนำในอุตสาหกรรมอาหารของไทยประกาศพัฒนานโยบายและแนวทางปฏิบัติให้มีความยั่งยืน เคารพสิทธิมนุษยชน เป็นธรรมต่อแรงงาน ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ด้านผู้เชี่ยวชาญและภาคประชาสังคมชี้ยังมีเรื่องให้ต้องแก้ไขอีกมาก พร้อมทำงานร่วมกัน

แคมเปญซูเปอร์มาร์เก็ตที่รัก ภายใต้การสนับสนุนของสหภาพยุโรป (EU) ในโครงการ SWITCH Asia ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและสำนักข่าวไทยพับลิก้า จัดเวทีเสวนาสาธารณะ “เส้นทางอาหารแห่งอนาคต ธุรกิจค้าปลีกกับความยั่งยืนด้านสังคม” โดยมีตัวแทนจากธุรกิจในอุตสาหกรรมอาหาร ผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืน และภาคประชาสังคมเข้าร่วม และมี ฯพณฯ เอกอัครราชทูต เปียร์ก้า ตาปิโอลา เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย แนะนำทิศทางความยั่งยืนของผู้บริโภค และภาคเอกชนในยุโรปและทั่วโลก หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่าประเด็นความยั่งยืนในอุตสาหกรรมอาหารอย่างสิทธิแรงงาน สิทธิผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม เป็นประเด็นที่กำลังได้รับความสำคัญมากขึ้น ซึ่งธุรกิจไทยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

ประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเส้นทางอาหารยังเป็นปัญหาใหญ่ โดยเฉพาะการละเมิดสิทธิแรงงานในอุตสาหกรรมประมง ซึ่งมีการร้องเรียนเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ มีหลักฐานว่าบริษัทจำนวนมากทั้งในไทยและต่างประเทศยังคงละเลยที่จะตรวจสอบห่วงโซ่อุปทานของตัวเอง มีการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ การจ่ายค่าจ้างไม่เป็นธรรม ไปจนถึงการขับไล่รื้อถอน และอื่นๆ อีกมากมาย โดยกรรมการสิทธิฯ ทิ้งท้ายว่าธุรกิจภาคค้าปลีกจำเป็นต้องมีศูนย์รับเรื่องร้องเรียนด้านสิทธิมนุษยชนที่ทั้งแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติในห่วงโซ่อุปทานอาหารสามารถเข้าถึงได้

สำหรับสิทธิแรงงานในภาคเอกชน ดร.แดเรี่ยน แมคเบน ผู้อำนวยการกลุ่มการพัฒนาการอย่างยั่งยืน บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตอาหารทะเลรายใหญ่ของไทย ได้แบ่งปันประสบการณ์ว่าที่ผ่านมาไทยยูเนี่ยนเองให้ความสำคัญกับประเด็นสิทธิแรงงานมาโดยตลอด เพราะทำการซื้อขายกับคู่ค้าทั้งในและต่างประเทศ โดยเน้นเรื่องความปลอดภัยในโรงงาน ความสุขของพนักงาน และการสานสัมพันธ์กับชุมชน

สลิลลา สีหพันธุ์ ประธานกรรมการฝ่ายกิจการบรรษัท เทสโก้ โลตัส ห้างค้าปลีกที่มีสาขามากที่สุดในประเทศไทย ระบุว่าซูเปอร์มาร์เก็ตอยู่ตรงกลางของเส้นทางอาหารระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค โดยเทสโก้ โลตัสเริ่มระบุที่มาที่ไปของอาหาร โดยอาหารที่นำมาขายต้องไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนของเกษตรกร แรงงาน หากพบกรณีการละเมิดสิทธิ จะมีการตักเตือนคู่ค้า และตัดความสัมพันธ์ทางการค้าหากไม่มีการแก้ไข นอกจากนี้ ยังมีความพยายามเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานราก ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชแบบยั่งยืน รับซื้อในราคาที่เป็นธรรม และบริจาคอาหารสดที่เหลือจากการขายให้กับชุมชนที่ขาดแคลนด้วย

ตัวแทนเทสโก้ โลตัส เปิดเผยแผนในอนาคตว่าจะทำให้บรรจุภัณฑ์ทุกอย่างของเทสโก้ โลตัสเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมภายในปี พ.ศ. 2568 รวมไปถึงการทำงานร่วมกับภาครัฐ ภาคประชาสังคม และผู้บริโภคมากขึ้นเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนไปพร้อมกันทั้งสังคม โดยเน้นย้ำว่าคู่ค้าของเทสโก้ โลตัสเองก็ต้องมีมาตรฐานเดียวกัน ทั้งในเรื่องสิทธิมนุษยชน แรงงาน เกษตรกร และสิ่งแวดล้อม หากทำไม่ได้ตามมาตรฐานก็อาจไม่สามารถทำธุรกิจร่วมกันได้ในอนาคต

สำหรับความท้าทายสำคัญของการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน นพปฎล เดชอุดม ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ มองว่าอุตสาหกรรมประมงเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีความท้าทายที่สุด นอกเหนือจากนั้นคือการบริหารงานในภาคธุรกิจ โดยยืนยันว่าผู้บริหารควรมีวิสัยทัศน์ด้านความยั่งยืน มีความตระหนักถึงผลกระทบของการทำธุรกิจต่อเกษตรกร แรงงาน ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม ต้องมีการตั้งเป้าหมายด้านความยั่งยืนที่วัดผลได้​และกล้าประกาศ​ให้สาธารณะรับรู้ หากถ้าทำตามเป้าไม่ได้ ก็ต้องกล้าที่จะแสดงความรับผิดชอบ

จุฑารัตน์ พัฒนาทร ผู้อำนวยการฝ่ายประกันคุณภาพ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าเรื่องที่บริษัทจะไม่ต่อรองคือสวัสดิภาพผู้บริโภค กฎหมาย และการปฏิบัติต่อคนที่อยู่ในเส้นทางการผลิตและจำหน่ายอาหาร พร้อมเสนอแนะว่าการพัฒนาไปสู่ความยั่งยืนต้องอาศัยการค่อยๆ ปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เรื่องไหนที่ไม่ยั่งยืนแต่มีการปฏิบัติกันมานานแล้วก็ต้องหาแนวทางทดแทนที่ดีกว่ามาใช้ โดยในอนาคตแม็คโครประกาศว่าไม่ได้แค่จะทำตามมาตรฐานในประเทศด้านความยั่งยืนเท่านั้น แต่ต้องการจะทำตามมาตรฐานสากลด้วย

นอกจากการพัฒนาในมิติต่างๆ ข้างต้น มิติด้านสิทธิตรีในเส้นทางอาหารก็เป็นประเด็นที่หลายฝ่ายให้ความสำคัญเช่นกัน รวงข้าว จันทร์ฉาย ผู้เชี่ยวชาญโครงการ องค์การเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ (UN Women) ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก กล่าวว่าปัญหาความไม่เท่าเทียมกันทางเพศของการจ้างงานและค่าจ้างอาจดูไม่เป็นปัญหาใหญ่ในประเทศไทย แต่ยังมีแง่มุมของการเข้าถึงโอกาสด้านการศึกษา เศรษฐกิจ และสังคมของผู้หญิงที่ไม่เท่ากัน โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานนอกระบบ ไปจนถึงภาระซ่อนเร้นของผู้หญิงหลายคนที่ถูกคาดหวังให้ต้องดูแลครอบครัวและเลี้ยงลูก ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เป็นธรรม

ด้านธีรวิทย์ ชัยณรงค์โสภณ เจ้าหน้าที่องค์การอ็อกแฟมในประเทศไทย เปิดเผยว่าการพูดคุยในประเด็นความยั่งยืนที่มีผู้เข้าร่วมจากหลายภาคส่วนถือเป็นสัญญาณที่ดี และที่ผ่านมาก็มีความพยายามจากภาคเอกชนที่จะทำตามมาตรฐานสากลมากยิ่งขึ้น แต่จากข้อมูลและงานวิจัยต่างๆ จากภาคประชาสังคม ต้องยอมรับว่าปัญหาต่างๆ ยังไม่หมดไป

การเปลี่ยนแปลงสู่ความยั่งยืนนั้นต้องการการปรับเปลี่ยนเชิงระบบ สร้างการปฏิบัติจริง และที่สำคัญคือ การเปิดเผยข้อมูลและนโยบายต่อผู้บริโภคอย่างตรงไปตรงมา จึงจะเป็นการพิสูจน์ว่าบริษัทใดมีความตั้งใจจริงที่จะพัฒนานโยบายและแนวทางการทำธุรกิจให้มีความยั่งยืน โปร่งใส สอดคล้องตามหลักธรรมาภิบาลอย่างแท้จริง

 

 

You Might Also Like